18 กันยายน 2553

บทที่ 10 การสร้างความสุข และวิธีการสร้างสุขตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง


บทความหลักการสร้างความสุขสำหรับชีวิต
โดย อ.ปรเมศร์ กลิ่นหอม

การปฏิบัติตัวตามหลักพระพุทธศาสนาซึ่งสามารถปฏิบัติตามได้ง่ายโดยไม่พิสดารเพื่อสร้างความสุข หลักนั้นคือความสุขของคฤหัสถ์ ซึ่งเป็นความสุขทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับนักศึกษาเพื่อการเตรียมตัวทำงานในอนาคต ผู้เขียนจึงนำหลักการนั้นมาใว้ให้นักศึกษาแต่ละคนฝึกปฏิบัติต่อไปให้สอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบัน โดยเรียงตามลำดับดังนี้ คือ
1. อัตถิสุข สุขเกิดจากการมีทรัพย์ ความสุขสิ่งแรกที่ต้องทำ คือ การทำงาน สร้างฐานะ เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์ (เงินทอง) อันจะบันดาลให้มีคามสุข โดยหากนักศึกษาจบการศึกษาหรือกำลังขาดแคลนทุนทรัพย์อยู่นั้นก็สามารถใช้แนวทางนี้คือให้ทำงานหาเงินเลี้ยงชีพ อย่าดูหมิ่นว่างานนั้นเงินน้อยหรือลำบากเพราะสิ่งที่ทำให้ดำรงอยู่ได้ล้วนมาจากการทำงานหาใช่การนั่ง นอน รอกินอย่างเดียวไม่ ขอเพียงให้งานนั้นเป็นงานสุจริตไม่เบียดเบียนผู้อื่นและไม่ผิดกฏหมายศีลธรรม
2. โภคสุข สุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์ เมื่อมีทรัพย์ ต้องรู้จักใช้จ่ายบำรุงตนเอง ครอบครัว ให้พอเหมาะพอควร ไม่ตระหนี่เกินไป ไม่ฟุ่มเฟือยเกินไป คือ ไม่เกินตัว และให้มีเหลือเก็บไว้บ้าง หลักง่ายๆคือ แบ่งเป็น 4 ส่วน 1 ส่วนใช้ดูแลตนเองและทำบุญ 2 ส่วนใช้ในการทำธุรกิจหรือนำไปสร้างมูลค่าเพิ่ม 1 ส่วนใช้ออมทรัพย์ ทรัพย์เหล่านั้นก็จะออกดอกผล และมีพอใช้ ทั้งนี้พึงระลึกถึงสิ่งสำคัญคือต้องพยายาม ทนต่อแรงยั่วยุกับอบายมุขที่ทำให้เสียทรัพย์ เช่น นักเลงพนัน สุรา เละเที่ยวกลางคืน เป็นต้น
3. อนณสุข สุขเกิดจากการไม่เป็นหนี้สิน เพราะฉะนั้น อย่าพยายามก่อหนี้ยืมสินผู้อื่น นอกจากจะดอกเบี้ยทวีคูณแล้ว ผู้เป็นหนี้ย่อมทุกข์ทนจากการถูกเจ้าหนี้บีบบังคับ อาจทำให้เครียด หรือเป็นไมเกรนได้โดยง่าย
4. อนวัชชสุข สุขเกิดจากการประกอบอาชีพสุจริต การทำงานหาเลี้ยงชีพ ต้องเป็นงานที่ต้องสุจริตไม่ผิดกฎหมาย ไม่สร้างความเดือดร้อนให้สังคม งานครู งานอบต.และอาชีพอื่นๆที่ทำแล้วไม่เกี่ยวการฆ่า ไม่เกี่ยวกับการผิดศีลธรรมอื่นๆ ที่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน อาชีพนั้นเป็นอาชีพที่นำความสุขมาให้
นอกจากนี้หากจะดำรงตนให้อยู่ในหลักความสุข 4 อย่าง ที่กล่าวไปแล้วนั้นจำเป็นต้องเพิ่มการฝึกตนให้อยู่ในฆราวาสธรรมหรือหลักปฏิบัติของชาวบ้านที่ทำให้เดินในทางแห่งความสุข ดังที่ พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต).(2546).ระบุไว้ดังนี้
1.สัจจะ คือ ความจริง, ซื่อตรง, ซื่อสัตย์, จริงใจ, พูดจริง, ทำจริง
2.ทมะ คือ การฝึกฝน, การข่มใจ, ฝึกนิสัย, ปรับตัว, รู้จักควบคุมจิตใจ, ฝึกหัดดัดนิสัย แก้ไขข้อบกพร่องปรับปรุงตนให้เจริญก้าวหน้าด้วยสติปัญญา (วิธีการพัฒนาตนก็อยู่ในหลักธรรมข้อนี้)
3.ขันติ คือ ความอดทน ตั้งหน้าทำหน้าที่การงานด้วยความขยันหมั่นเพียร เข้มแข็ง ทนทาน ไม่หวั่นไหว มั่นในจุดหมายไม่ท้อถอย
4.จาคะ คือ ความเสียสละ, สละกิเลส สละความสุขสบายและผลประโยชน์ส่วนตนได้ ใจกว้าง พร้อมที่จะรับฟังความทุกข์ ความคิดเห็นและความต้องการของผู้อื่นพร้อมที่จะร่วมมือช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่คับแคบเห็นแก่ตนหรือเอาแต่ใจตัว
จากหลักธรรม 2 หลักการในเบื้องต้นสอดคล้องกับการดำเนินชีวิตตาแนวเศรษฐกิจพอเพียงคือ การพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาทโดยคำนึงถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ความรอบคอบ และคุณธรรม ประกอบการวางแผนการตัดสินใจและการกระทำ (อ้างอิงจาก http://nan.doae.go.th/nan09/genaral/phorpuing.htm)ในส่วนของความพอประมาณ (มีทรัพย์ ใช้จ่ายตามที่มี ไม่เป็นหนี้เกินตัวและนำทรัพย์นั้นมาประกอบอาชีพสุจริต)มีเหตุผล (แก้ไขข้อบกพร่องปรับปรุงตนให้เจริญก้าวหน้าด้วยสติปัญญา)และสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว (พูดจริง, ทำจริง,ปรับตัว, รู้จักควบคุมจิตใจ,อดทน,เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่) ข้อเพิ่มเติมที่สำคัญคือความพอเพียงของแต่ละคน แต่ละกลุ่ม แต่ละประเทสไม่เหมือนกัน จึงควรศึกษาให้รอบด้านก่อนนำมาลงมือทำ หากสามารถนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตนักศึกษาก็จะพบความสุขตั้งแต่เริ่มลงมือทำจนความสุขในเป้หมายชีวิตสูงสุดได้ ขึ้นอยู่กับการกระทำของแต่ละคนครับ

อ้างอิง
พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต).(2546).พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม .กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย.
http://nan.doae.go.th/nan09/genaral/phorpuing.htm

13 กันยายน 2553

การจัดการความขัดแย้งและการทำงานเป็นทีม


การจัดการความขัดแย้งโดยใช้ภูมิปัญญาไทย
บทความโดย อ.ปรเมศร์ กลิ่นหอม


เมื่อคนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปมาอยู่รวมกันการเป็นกลุ่มก็ถูกจัดตั้งขึ้นโดยอัติโนมัติ ทั้งกลุ่มแบบทางการและไม่เป็นทางการ การอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างอันมาจากพื้นฐานทางสังคมวัฒนธรรมและการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกันจึงทำให้นำมาซึ่งความขัดแย้งได้ง่าย "ฉันเคยทำอย่างนี้" "แต่ฉันไม่เคยทำอย่างนี้" เพียงแค่สองประโยคนี้ อาจทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ทุกคนคาดไม่ถึง ดังนั้นการสร้างสรรค์พฤติกรรมที่เป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้ความขัดแย้งลดลงควรจะลงมือทำโดย (เรียม ศรีทอง,2542. น.307).
1.การเสริมกำลังใจ (Encouragement)ซึ่งแสดงออกจาก การให้ข้อมูลและความคิดเห็นอย่างนุ่มนวล สร้างสรรค์สิ่งใหม่และประสานเชื่อมโยงกับสิ่งที่มีอยู่เดิม
2.การเชื่อมสัมพันธ์ (Associated) ซึ่งแสดงออกจาก ประนีประนอม สร้างบรรยากาศอบอุ่น เป็นผู้รับฟัง เห็นด้วยและสนับสนุนตามความเป็นจริง
3.ลดลักษณะการทำลาย (Discoraging)ได้แก่ การก้าวร้าว ผูกขาด ขัดขวาง เฉยเมย และกีดกัน อันจะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกันได้ง่าย
จากพฤติกรรมที่ควรสร้างขึ้นในกลุ่มทั้ง 3 อย่างนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดงธรรมไว้สำหรับหมู่สงฆ์เพื่อให้เกิดความสามัคคี หลักปฏิบัตินั้นคือ "สารณียธรรม 6" ดังที่พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต,2546)ได้ระบุใว้ในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ว่า สารณียธรรม 6 (ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความให้ระลึกถึง, ธรรมเป็นเหตุที่ระลึกถึงกัน, หลักการอยู่ร่วมกัน — states of conciliation; virtues for fraternal living) สาราณียธรรม ก็ใช้
1. เมตตากายกรรม (ตั้งเมตตากายกรรมในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ ช่วยเหลือกิจธุระของผู้ร่วมคณะด้วยความเต็มใจ แสดงกิริยาอาการสุภาพ เคารพนับถือกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง — to be amiable in deed, openly and in private)
2. เมตตาวจีกรรม (ตั้งเมตตาวจีกรรมในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ ช่วยบอกแจ้งสิ่งที่เป็นประโยชน์ สั่งสอน แนะนำตักเตือนด้วยความหวังดี กล่าววาจาสุภาพ แสดงความเคารพนับถือกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง — to be amiable in word, openly and in private)
3. เมตตามโนกรรม (ตั้งเมตตามโนกรรม ในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือตั้งจิตปรารถนาดี คิดทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่กัน มองกันในแง่ดี มีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสต่อกัน — to be amiable in thought, openly and in private)
4. สาธารณโภคี (ได้ของสิ่งใดมาก็แบ่งปันกัน คือ เมื่อได้สิ่งใดมาโดยชอบธรรม แม้เป็นของเล็กน้อย ก็ไม่หวงไว้ผู้เดียว นำมาแบ่งปันเฉลี่ยเจือจาน ให้ได้มีส่วนร่วมใช้สอยบริโภคทั่วกัน — to share any lawful gains with virtuous fellows) ข้อนี้ ใช้ อัปปฏิวิภัตตโภคี ก็ได้
5. สีลสามัญญตา (มีศีลบริสุทธิ์เสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ มีความประพฤติสุจริตดีงาม ถูกต้องตามระเบียบวินัย ไม่ทำตนให้เป็นที่น่ารังเกียจของหมู่คณะ — to keep without blemish the rules of conduct along with one’s fellows, openly and in private)
6. ทิฏฐิสามัญญตา (มีทิฏฐิดีงามเสมอกันเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ มีความเห็นชอบร่วมกัน ในข้อที่เป็นหลักการสำคัญที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้น สิ้นทุกข์ หรือขจัดปัญหา — to be endowed with right views along with one’s fellows, openly and in private)
ธรรม 6 ประการนี้ มีคุณคือ เป็น สารณียะ (ทำให้เป็นที่ระลึกถึง — making others to keep one in mind) เป็น ปิยกรณ์ (ทำให้เป็นที่รัก — endearing) เป็น ครุกรณ์ (ทำให้เป็นที่เคารพ — bringing respect) เป็นไปเพื่อ ความสงเคราะห์ (ความกลมกลืนเข้าหากัน — conducing to sympathy or solidarity) เพื่อ ความไม่วิวาท (to non—quarrel) เพื่อ ความสามัคคี (to concord; harmony) และ เอกีภาพ (ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน — to unity)
จากหลักปฏิบัติดังกล่าวหากนำมาฝึกปฏิบัติเพื่อลดความขัดแย้งในกลุ่มแล้ว จำเป็นต้องมีหลักสำคัญในเบื้องต้นซึ่งจำเป็นต้องใช้อีกหลายด้าน คือ เมตตา ความเป็นมิตร ฯลฯ ทั้งนี้ทั้งนั้นความแตกต่างทางบุคลิกภาพของแต่ละคนก็อาจนำมาซึ่งความขัดแย้งได้ โดยพบจากการศึกษาคุณลักษณะ (trait)ของมนุษย์พบว่ามีทั้งหมด 1,800 แบบ ที่แตกต่างกันไป ดังนั้น การจะให้มนุษย์มาอยู่รวมกันทั้ง 1,800 คน ให้พูดจาเหมือนกัน หรือทำในแบบอย่างเดียวกันทุกกระเบียดนิ้วคงจะทำได้ยากยิ่ง สิ่งที่ง่ายที่สุดคือลงมือฝึกฝนตนเองให้ใกล้เคียงกับหลัก สารณียธรรม 6 มากที่สุด เมื่อได้ผลเช่นไรนำมาเล่าให้ฟังบ้าง บางที่อาจจะดีกว่าวิธีอื่นก็ได้นะครับ

อ้างอิง
พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต).(2546).พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. พิมพ์ครั้งที่ ๑๒. กรมการศาสนา : กรุงเทพมหานคร.
เรียม ศรีทอง. (2540). มนุษยสัมพันธ์. สถาบันราชภัฏสวนดุสิต : กรุงเทพมหานคร.
เรียม ศรีทอง. (2542). พฤติกรรมมนุษยกับการพัฒนาตน. เธิร์ดเวฟ เอ็ดดูเคชั่น : กรุงเทพมหานคร.
ป. มหาขันธ์. (2534). คู่มือการพัฒนาคน. โอ. เอส. พริ้นติ้ง เฮ้าส์ : กรุงเทพมหานคร.