11 กุมภาพันธ์ 2553

การเสริมสร้างชีวิตให้เป็นสุข

บทที่ 9
การเสริมสร้างชีวิตให้เป็นสุข

ถ้ามีใครสักคนถามว่า “ชีวิตคนเราเกิดมาเพื่ออะไร” หรือ “อะไรคือจุดมุ่งหมายของชีวิต”คำตอบของแต่ละคนคงแตกต่างกันไป เช่น เงิน คือ จุดมุ่งหมายในชีวิต ความสำเร็จ คือจุดมุ่งหมายในชีวิต มีงานทำที่มั่นคง คือจุดมุ่งหมายในชีวิต
ถ้าหากจะวิเคราะห์คำตอบทั้ง 3 ให้ดีแล้วจะพบว่า การที่คนเราต้องการมีเงินทองมากมายหรือร่ำรวย ก็เพราะว่าเมื่อมีเงินแล้วก็จะสามารถซื้อหาสิ่งที่เขาต้องการได้ตามใจปรารถนา ซื้ออาหารที่อร่อย ๆ กิน ซื้อบ้านหลังโต ๆ ซื้อรถยนต์คันงาม ๆ หรือเครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ หรือ เมื่อบุคคลมีงานทำที่มั่นคง ประสบความสำเร็จในชีวิตแล้ว ก็จะนำมาซึ่งความมั่นคงทางสังคมและจิตใจทำให้เกิดความพึงพอใจและเมื่อบุคคลรู้สึกว่าชีวิตมั่นคงและมีความพึงพอใจก็จะนำมาซึ่งความสุขในชีวิตนั่นเอง ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า “เป้าหมายในชีวิตของทุกคนก็คือ”ความสุข” หรือการมีชีวิตที่เป็นสุขนั่นเอง

ความสุขคืออะไร
นายแพทย์ประเวศ วะสี ได้ให้นิยาม “ความสุข” ไว้ในหนังสือ “ความสุข” (ประเวศ วะสี : 2541.)ว่า นิยามทางพุทธศาสนา “ความสุขคือการหมดไปซึ่งความทุกข์” จะพูดเรื่องความทุกข์มากกว่าความสุข ความทุกข์และความสุขจึงเป็นเรื่องเดียวกัน เหมือนกับความร้อนและความเย็น ความร้อนมีน้อย ความเย็นมีมาก ยกตัวอย่างเช่น เวลาเราเจ็บป่วย เจ็บคอ ไม่สบาย เราจะเป็นทุกข์ ต้องรักษาซื้อยามารับประทานหรือไปพบหมอเพื่อรักษาให้อาการเจ็บป่วยที่เป็นทุกข์นั้นหายไป เมื่อหมดความทุกข์ ก็จะทำให้ชีวิตเป็นสุข
หรืออีกนิยามหนึ่ง “ความสุขหมายถึงความมีอิสรภาพ” ความมีอิสรภาพจากความบีบคั้น หลุดพ้นจากความบีบคั้นทั้งทางร่างกาย บีบคั้นทางสังคม บีบคั้นทางจิตใจและทางปัญญา
พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต : 2538 ) กล่าวว่า ความสุขของมนุษย์มีอยู่สอบแบบ คือ แบบที่หนึ่งเป็นสุขจากการได้รับ หมายถึง สุขที่เกิดจาการได้รับตอบสนองทาง หู ตา จมูก ลิ้น และกาย ที่เรียกว่าเป็นสุขจากการเสพ ความสุขแบบที่สองเป็นความสุขได้โดยลำพังตัวเอง ในจิตใจของตนเอง ไม่ต้องพึ่งพาวัตถุภายนอก หมายความว่า ถึงแม้ไม่มีวัตถุภายนอก เราก็มีความสุขได้ คือ ความสุขเกิดจากจิตใจ หรือความรู้สึกของเราเอง
ความสุขที่เกิดจาการเสพนั้น ถือว่าเป็นความสุขพื้นฐานของมนุษย์ ทุกคนต้องดิ้นรนแสวงหา แต่การดิ้นรนแสวงหานั้น ถ้าดิ้นรนแสวงหากหรือเสพอย่างพอดี อยู่ในขอบเขตที่สมดุลก็จะทำให้เกิดความสุข แต่ถ้าการดิ้นรนแสวงหาบำเรอหรือเสพจนเกินพอดี ก็จะทำให้เกิดความทุกข์ จึงมีบางคนยิ่งเสพมากขึ้นเท่าไรก็จะยิ่งแสวงหามากขึ้น ดิ้นรนมากขึ้น จนหาความสงบนิ่งไม่ได้เลย จนชีวิตสับสนวุ่นวายไปหมด หาความสงบความพอดีไม่ได้
ความสุขที่มีลักษณะประณีตอีกลักษณะหนึ่งเป็นความสุขที่มีคุณค่า เป็นความสุขทีเกิดจากความเสียสละหรือความสุขที่เกิดจากการให้ เช่น ความสุขใจของพ่อแม่ที่จ่ายทรัพย์ให้กับลูกหลาน ให้สตางค์ลูกหลานไปซื้อขนมหรือของเล่นที่เขาชื่นชอบ เมื่อ พ่อแม่เป็นคนให้ก็จะมีความสุข ความอิ่มใจ บางคนน้ำตาซึมเพราะความปีติดีใจ อิ่มใจที่เห็นลูกหลานมีความสุข เป็นความสุขที่เกิดจากการให้หรือการเสียสละของตนเอง
ท่านพุทธทาส กล่าวถึงความสุขว่า “ความสุขที่แท้จริงคือความสงบของจิตใจ ความสุขอยู่ที่ใจของเรา จิตใจของเรามีความยึดถือเป็นความเห็นแก่ตัว ตัวกูของกูหรือไม่ ถ้าไม่ยึดถือไม่เห็นแก่ตัว ตัวก็จะเบาสบายเป็นสุข ถ้าเห็นแก่ตัวก็เป็นทุกข์ หมดความเห็นแก่ตัวก็หมดทุกข์” ดังนั้น ความสุขและความทุกข์จึงอยู่ที่ใจ ดังบทกลอนที่ท่านได้เขียนไว้เพื่ออธิบายความหมายของความสุขและเป็นคติสอนใจว่า...

ทุกข์อยู่ที่ใจมิใช่หรือ ถ้าใจถือเป็นทุกข์ไม่สุกใส
ถ้าไม่ถือเป็นสุขไม่ทุกข์ใจ เราอยากได้ความทุกข์หรือสุขนา

ดังนั้นจากนิยามของความสุขที่กล่าวมาข้างต้น จึงอาจสรุปความหมายของความสุขเป็น 2 แนว ความสุขในทางโลกและความสุขในทางธรรม ความสุขในทางโลกหมายถึงความสบายใจ ความพึงพอใจที่เกิดจากการได้รับการตอบสนองในสิ่งที่ปรารถนา คือสุขจากการเสพหรือ “กามสุข” ความสุขในทางธรรม คือความสงบทางจิตใจที่หลุดพ้นหรือเป็นอิสระจากสิ่งที่ติดยึดทั้งปวง คือ “ใจเป็นสุข”

ความสุขของมนุษย์ตามทรรศนะนักปรัชญา
“ ความสุข” แนวคิดตามทรรศนะของนักปรัชญากล่าวไว้ มีอยู่ 3 แนวคิด ดังนี้ (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 2525 : 329-365)
1. ความสุข : ตามทรรศนะสุขนิยม (Hedonism) ผู้มีแนวคิดตามทรรศนะนี้ถือว่า “ความสุขสบาย” เป็นสิ่งเดียวที่มีค่าสูงสุดสำหรับชีวิต ทุกชีวิต ต้องดินรนแสวงหา ทำงานอย่างหนักหรือทำอะไรทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะสิ่งเหล่านั้นนำไปสู่ความสุขนั่นเอง ทุกชีวิตจึงพยายามหลีกหนีความทุกข์ยากเพื่อไปสู่ความสุขสบาย ความสุขสบายจึงเป็นสุดยอดปรารถนาของชีวิต
แต่การแสวงหาความสุขที่ได้จากการตอบสนองจากประสาทสัมผัส (รูป รส กลิ่น เสียงและสัมผัส) นั้น จำเป็นต้องทำในสิ่งที่มีความทุกข์เจือปนอยู่ด้วย มนุษย์เราต้องทำอะไรบางอย่างซึ่งเป็นความทุกข์ในปัจจุบัน แต่มิได้หมายความว่าความทุกข์ยากเป็นจุดมุ่งหมายของการกระทำ แต่เพราะมองการณ์ไกลว่า ความทุกข์จากการทำงานปัจจุบันจะนำมาซึ่งความสุขในอนาคต ถ้ามัวแต่เพลินหาความสุขในปัจจุบัน อาจทำให้มีความทุกข์อย่างมากในอนาคต จึงต้อง บวก ลบ คูณ หาร ดูว่า ระหว่างสุขกับทุกข์ อะไรมีน้ำหนักมากกว่า ถ้ามีปริมาณความสุขมากกว่าก็ถือว่าใช้ได้ เช่น การที่นักศึกษาต้องมาทนทุกข์ท่องหนังสืออดหลับอดนอน ก็เพราะหวังว่าจะสอบให้ผ่าน เรียนให้สำเร็จ เพื่อการงานที่ดีกว่าในอนาคต ซึ่งเรียกว่า “มีทุกข์เฉพาะหน้า เพื่อความสุขระยะยาว” นั่นเอง
การเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างความคิด ความเฉลียวฉลาดทางปัญญาเป็นการเสริมสร้าง“ความรู้” และมนุษย์ก็จะใช้ความรู้นั้นเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความสุข แม้แต่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ความรู้ทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ สิ่งประดิษฐ์คิดค้นใหม่ๆ มนุษย์ก็คิดค้นขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความสุขนั่นเอง
ความเป็นจริงแล้วมนุษย์ทุกคนที่เกิดมาย่อมพลกับทั้งความทุกข์และความสุขระคนกันไปเพราว่าโลกมนุษย์ต้องมี 2 ด้านคู่กัน คือ มีความสุขกับความทุกข์ มีกลางคืนต้องมีกลางวัน มีความ สำเร็จก็ต้องมีความล้มเหลว เหล่านี้คือโลกธรรม หรือเป็นธรรมชาติของโลกมนุษย์ ทั้งความสุขและความทุกข์เป็นสิ่งจริงแท้ที่ทุกคนต้องพบ ดังนั้นเมื่อความจริงเป็นเช่นนี้ ทุกคนจึงควรพยายามหาวิธีการให้ตนเองมีความทุกข์น้อยที่สุดและหาวิธีการให้ตนเองมีความสุขมากที่สุด
2. ความสุข : ตามลัทธิอสุขนิยม แนวคิดสุขนิยมที่กล่าวมานั้น ถือว่าความสุขเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิต และสามารถสร้างความสุขได้ด้วยการตอบสนองสิ่งที่ปรารถนา แต่ในลัทธิอสุขนิยมถือว่าความสุขไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด เพราะยังมีสิ่งอื่นมีค่าเหนือความสุข คือ
2.1 วิมุตินิยม ถือว่าความสงบทางจิตใจเหนือกว่าความสุข
2.2 ปัญญานิยม ถือว่า ปัญญาหรือความรู้มีค่าเหนือกว่าความสุข
วิมุตินิยม มีความเห็นว่า ความต้องการประการแรกของมนุษย์คือความต้องการจะหลุดพ้นจากทุกข์ ความต้องการขั้นต่อมาคือต้องการมีความสุขยิ่งขึ้น มนุษย์ทุกคนเมื่อมีความทุกข์ย่อมปรารถนาจะหลีกพ้นจากทุกข์ แต่พอมีชีวิตอยู่ในสภาพปกติไม่มีความทุกข์แล้วไม่ดิ้นรนหาความสุขใส่ตัวต่อไป วิมุติสุขนิยมจึงถือว่า “การหลุดพ้น” จากความทุกข์มีค่ามากกว่าการมีความสุข
การทำให้ชีวิตหลุดพ้นจากทุกข์ต้องขจัดที่ต้นเหตุแห่งทุกข์ ซึ่งวิมุตินิยมถือว่า “ความต้องการ” หรือ “ความอยาก” ที่ไม่ได้สมอยากนำมาซึ่งความทุกข์ อยากกินไม่ได้กินเป็นทุกข์อยากเป็นแล้วไม่ได้เป็นทุกข์ อยากได้แล้วหาไม่ได้เป็นทุกข์ ดังนั้น ความอยากหรือความต้องการทั้งหลายของมนุษย์เป็นเหตุปัจจัยแห่งทุกข์ การพยายามลดความต้องการให้น้อยลงหรือขจัดให้หมดไปได้ก็คือการทำให้หลุดพ้นจากความทุกข์ ความต้องการของมนุษย์ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและจิตใจของเรา เราบังคับควบคุมตัวเราเองได้ง่ายกว่าบังคับควบคุมโลกภายนอก ถ้าเราเอาทุกข์สุขไปผูกติดกบวัตถุภายนอกที่เรายังคับไม่ได้ ชีวิตก็จะเสี่ยงมีความทุกข์มากขึ้น การเอาชนะ ความต้องการของตนเองจึงปลอดภัยและแน่นอนกว่าการเอาชนะสิ่งภายนอก
วิมุตินิยมถือว่าความสุขและและความทุกข์เป็นสิ่งคู่กันเสมอ เหมือนเหรียญต้องมี 2 หน้า เช่นเดียวกับลัทธิสุขนิยม เมื่อท่านต้องการความสุขท่านก็จะได้ความทุกข์ตามมาด้วย มีความสุขกับความสมหวังสักวันหนึ่งต้องเป็นทุกข์เพราะความผิดหวัง หรือเมื่อมีความสุขก็จงเรียมใจรับกับความทุกข์ที่จะตามมา เมื่อสุขกับทุกข์เป็นของคู่กัน การแสวงหาความสุขจะทำให้เกิดความทุกข์ตามมา ดังนั้น วิมุติสุขจึงเห็นว่าควรแสวงหาความสงบของจิตใจ ระงับความอยากความต้องการของคนเสีย เมื่อไม่อยากได้อะไรจึงไม่มีโอกาสเป็นสุขเพราะความสมหวังและไม่มีโอกาสเป็นทุกข์เพราะความผิดหวัง ความสงบของจิตจึงเป็นภาวะที่อยู่เหนือความสุขและความทุกข์
ปัญญานิยม ตามทรรศนะของลัทธิปัญญานิยมเชื่อว่าศักดิ์ศรีและความทีคุณค่าของมนุษย์อยู่ที่ปัญญา ความสุขไม่ได้มีค่าในตัวของมันเอง ค่าของความสุขอยู่ที่ว่าถ้าปราศจากความสุขแล้วก็ยากที่มนุษย์จะแสวงหาความรู้ นักปรัชญาโบราณ เช่น โสเครติสและเพลโต ไม่ให้ความสำคัญต่อความสุข เพราะถือว่าความสุขล่อให้คนห่างเหินจากปัญญา เช่น ถ้าเรากินอิ่ม อยู่สบายเกินไป เราอาจอยากนอนฟังเพลง ดูละครมากกว่าการอ่านหนังสือใช้ความคิด
กล่าวโดยสรุปแล้ว สำหรับปัญญานิยมเชื่อว่ามนุษย์ไม่ได้มีความพอใจเพียงการกินอิ่ม การนอนหลับ และการสืบพันธ์เท่านั้น มนุษย์ยังอยากรู้ แสวงหาความจริงเกี่ยวกับชีวิตความจริงเกี่ยวกับจักรวาล เพื่อเสริมสร้างความภูมิใจของตนเอง
3. ความสุข : ตามทรรศนะมนุษย์นิยม ความเชื่อตามลัทธิมนุษย์นิยมถือว่า ความสุขความสงบ และปัญญาความรู้เป็นสิ่งที่มีค่าเท่าเทียมกันสำหรับชีวิตมนุษย์ เพราะในความเป็นจริงแล้ว มนุษย์มีร่างกายและจิตใจ จะขาดส่วนหนึ่งส่วนใดไม่ได้ ดังนั้น การให้ความสำคัญกับความสุขทางกายตามลัทธิสุขนิยมมากเกินไป หรือการให้ความสำคัญต่อจิต วิญญาณ ตามลัทธิอสุขนิยม มากเกินไป ย่อมไม่เหมาะสม จึงควรให้ความสำคัญทั้งแก่ร่างกายและจิตใจอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ควรละเลยด้านใดด้านหนึ่ง เพราะจำทำให้ชีวิตขาดความสมบูรณ์ไป ชีวิตจึงควรดำเนินไปอย่างเป็นธรรมชาติ การกระทำต่างๆก็มุ่งตอบสนองต่อธรรมชาติทั้งสิ้น เมื่อไรก็ตามที่การดำเนินชีวิตเหมาะสมสอดคล้องกับธรรมชาติ เป็นไปอย่างธรรมชาติ สมดุลกับธรรมชาติก็จะทำให้ชีวิตเป็นสุข

ความเครียด สิ่งบีบคั้นให้เกิดความทุกข์
ความเครียดเป็นปรากฏการณ์หรือสภาพทางจิตใจของบุคคลที่เกิดขึ้นจากการสะสมความกดดันหือปัญหาต่าง ๆ จนปริมาณความกดดันหรือปัญหามากพอ จึงแสดงออกทางร่างกายสีหน้า แววตา หรืออากัปกิริยาต่างๆ หรือแสดงออกทางจิตใจ ว้าวุ่น วิตกกังวล หวาดกลัว หรือเป็นลักษณะภาพรวมที่แสดงออกถึงความทุกข์ใจ
ความเครียดเป็นสภาวะทางอารมณ์และจิตใจที่เกิดขึ้นกับบุคคลทุกคน ไม่มีใครเลยที่หลุดพ้นจากสภาวะความเครียด ยิ่งในสังคมปัจจุบัน การดำเนินชีวิตประจำวันเต็มไปด้วยปัญหานานัปการ ทั้งปัญหาสังคม ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาสภาพแวดล้อม ยิ่งในเมืองใหญ่ที่แออัด ยิ่งเป็นแหล่งรวมของปัญหานานาประการ สภาพจิตใจของคนก็ยิ่งมากขึ้นตามปัญหาต่างๆ เหล่านั้น
สาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียดในทางจิตวิทยานั้นมีสาเหตุ 5 ประการ คือ
1. เกิดจากความกดดัน ถูกกดดันจากสภาพแวดล้อม ถูกกดดันจากพ่อแม่ ถูกกดดันจากเพื่อนร่วมงาน ถูกกดดันให้ทำในสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เราไม่อยากจะทำ
2. เกิดจากความวิตกกังวล คนบางคนที่คิดมาก กังวลกับอดีตที่ผ่านมา หรือกังวล กับอนาคต ทำให้ขาดความสุขในชีวิต คนเหล่านี้มักจะนอนไม่หลับ อ่อนเพลีย ซึมเศร้า รู้สึกผิด หรือบางคนกังวลมากจนทำให้มีอาการทางจิต กลายเป็นโรคจิตหรือโรคประสาทก็ได้
3. เกิดจากความคับข้องใจ ความคับข้องใจเป็นความรู้สึกที่ไม่สมหวังที่ไม่สามารถทำอะไรได้ดังใจ เพราะว่ามีอุปสรรคหรือปัญหามาขวางกั้นจนทำให้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในการทำงานได้ คนที่มีอาการคับข้องใจนี้เรื้อรังอาจมีอาการทางประสาทต่างๆ ตามมา เช่น ใจสั่น แน่นหน้าอก มึนงง ปวดกล้ามเนื้อ ชาตามตัว เป็นต้น
4. เกิดจากความขัดแย้ง ความขัดแย้งอาจเป็นความขัดแย้งระหว่างบุคคลที่มีความคิดความเห็นไม่ตรงกัน ผลประโยชน์ขัดกันจนต้องถกเถียงหรือทะเลาะวิวาทกัน หรือเป็นความขัดแย้งในใจตนที่เกิดจากมีความคิด ความรู้สึกของตนเองเป็นหลายทาง จนทำให้ไม่สามารถตัดสินใจทำอะไรได้ในสถานการณ์หนึ่งสถานการณ์ใด เช่น บางคนขัดแย้งกับหัวหน้างาน ขัดแย้งกับบุคคลในครอบครัว จนทำให้บรรยากาศในการทำงานหรือบรรยากาศในครอบครัวตึงเครียดจนหาความสุขไม่ได้
5. เกิดจากความผิดปกติทางร่างกาย บางคนมีความพิการทางร่างกาย มักจะถูกเพื่อนล้อเลียน ถูกตำหนิจนเป็นปมด้อย จนทำให้ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง กดเก็บความรู้สึกไม่พอใจ ไม่สบายใจเหล่านั้นไว้จนอาจทำให้กลายเป็นคนเจ้าคิดเจ้าแค้น จนทำให้เกิดปัญหาในการดำรงชีวิตมองโลกในแง่ร้าย หวาดระแวงสังคม ไม่ไว้วางใจผู้อื่น บางคนถึงกับท้อแท้หมดอาลัยตายอยากกับชีวิตก็มี
ความเครียดไม่ว่าจะมีสาเหตุจากข้อใดก็ตามที่กล่าวมาแล้ว ถ้าหากเกิดขึ้นกับใคร ย่อมมีผลเสียต่อจิตใจ สภาพร่างกาย พฤติกรรมการทำงาน สัมพันธภาพทางสังคมและบุคลิกภาพของบุคคลได้ทั้งสิ้น ความเครียดที่ไม่รุนแรงนักอาจทำให้จิตใจว้าวุ่นไม่เป็นสุขกับการทำงาน แต่ถ้าความเครียดที่รุนแรงและเรื้อรังอาจทำให้เกิดผลเสียหายต่อสุขภาพจิตระยะยาวถึงขั้นเป็นโรคจิตและโรคประสาทได้ ดังนั้น จึงควรหาทางป้องกันและแก้ไขไม่ให้เกิดความเครียดที่เรื้อรัง

แนวทางการป้องกันและแก้ไขความเครียด
อย่างที่กล่าวมาแล้ว ความเครียดทำให้บุคคลเกิดความทุกข์ ไร้ความทุกข์ ถ้าหาทางป้องกันไม่ให้เกิดความเครียดได้ หรือเมื่อเกิดขึ้นแล้วสามารถแก้ไขหรือปรับลดระดับความเครียดลงได้ ก็จะเป็นการเสริมสร้างความสุขทางจิตใจได้
หวงวิจิตรวาทการ (สมิต อาชวนิจกุล 2541 : 67 – 73) กล่าวว่า ความเครียดเกิดจาก นิสัยที่ไม่ดี เป็นนิสัยที่ทำลายสุขภาพ เพราะว่านิสัยที่ไม่ดีเหล่านั้นเป็นการวางยาพิษตนเอง ร่างกายและจิตใจก็ต้องรีบย่อยและดูดซึมสารพิษเหล่านั้นเข้าไปไว้ในระบบและส่งต่อไปยังส่วนต่างๆ ทั้งร่างกาย และสารพิษ (นิสัยที่ไม่ดี) นั้นก็จะค่อยๆ บั่นทอนสมรรถภาพและประสิทธิภาพการทำงานของอวัยวะต่างๆ ของร่างกายให้เสื่อมถอย
สุขนิสัยที่ดี มีความสำคัญต่อการเอาชนะความเครียดด้วยตนเอง ร่างกายที่ได้รับการดูแลที่ดี ให้ปลอดจากสารพิษทั้งภายในและภายนอก ได้รับอาหารที่ถูกส่วน มีการออกกำลังกายสม่ำเสมอพักผ่อนหลับนอนอย่างเพียงพอ จะส่งผลให้สุขภาพกาย สุขภาพจิตสดชื่น แข็งแรง มีความสุข

นิสัยที่ดีที่ควรปลูกฝัง 4 ประการ และนิสัยที่ไม่ดีที่ควรละทิ้ง 4 ประการ ได้แก่
นิสัยที่ควรปลูกฝัง นิสัยที่ควรละทิ้ง
1. ความพยายาม
2. ความเมตตา
3. ความกล้าหาญ
4. ความเข้มแข็ง 1. ความท้อถอย
2. ความริษยา
3. ความขลาดกลัว
4. ความใจอ่อน

ท่านพุทธทาสภิกขุได้ให้แนวทางการแก้ไขโรคเครียด ด้วยยาแก้หลายขนาน และแต่งเป็นบทกลอนไว้ ดังนี้ (พุทธทาสภิกขุ 2541 : 29-30)

ต้นไม่รู้ไม่ชี้นี้เอาเปลือก ต้นช่างหัวมันนั้นเลือกเอาแก่นแข็ง
อย่างนั้นเองเอาแต่รากฤทธิ์มันแรง ไม่มีของกูแสวงเอาแต่ใบ
ไม่น่าเอาไม่น่าเป็นเฟ้นเอาดอก ตายก่อนตายเลือกออกลูกใหญ่ๆ
หกอย่างนี้อย่างละชั่งตั้งเกณฑ์ไว้ ดับไม่เหลือสิ่งสุดท้ายให้เมล็ดมัน
หนักหกชั่งเท่ากันยาทั้งหลาย เคล้ากันไปเสกคาถาที่อาถรรพ์
สพฺเพ ธมฺมา นาลฺ อภินิเวสายอัน เป็นธรรมชั้นหฤทัยในพุทธนาม
จัดลงหม้อใส่น้ำพอท่วมยา เคี่ยวไฟกล้าเหลือได้หนึ่งในสาม
หนึ่งช้อนชาสามเวลาพยายาม กินเพื่อความหมดสรรพโรคเป็นโลกอุดร

จากบทกลอนที่ยกมากล่าวนั้น ท่านพุทธทาสได้สอนแนวทางรักษาโรคเครียด หรือโรคทางจิตใจของคนว่าต้องรู้จักปล่อยวาง ลดลางเฉยเสียบ้าง จิตใจจะได้มีความสุข ในบทกลอน ดังกล่าวการรักษาโรคเครียดต้องปล่อยวางในเรื่องต่อไปนี้
1. ไม่รู้ไม่ชี้ ไม่รู้ไม่ชี้ในที่นี้ไม่ใช่ไม่ยอมรับรู้เรื่องราวใดๆ หมายถึงไม่รู้ไม่ชี้ ไม่จุกจิก
2. ช่างหัวมัน หมายถึง การยอมรับสิ่งต่างๆ ตามสภาพของมัน เพราะว่าของทุกอย่างต้องเป็นไปตามกรรม เมื่อมันเป็นเช่นนั้นจะเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปตามที่เราต้องการได้อย่างไร
3. เช่นนั้นเอง หมายถึง การยอมรับสัจธรรมของสิ่งต่างๆ ว่าเป็นอนิจจัง คือไม่มีอะไรเที่ยงแท้ ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ
4. ไม่มีตัวกู-ของกู การรู้จักปล่อยวางไม่มีตัวกู –ของกู ท่านพุทธทาสบอกว่า เป็นสติปัญญาสู.สุดตามกฎไตรลักษณะนั้นกล่าวว่า “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” ทุกย่างไม่เที่ยง การไปติดยึดทำให้เกิดปัญหา ทำให้เกิดกิเลส ทำให้เกิดการแย่งชิง ทำให้เกิดความทุกข์ ดังนั้นจิตที่ฉลาดต้องเป็นจิตที่สามารถปล่อยวาง ตัดทิ้ง “ตัวกู – ของกู” แล้วจะทำให้เบา จิตใจจะเบา
5. ไม่น่าเอา – ไม่น่าเป็น เพราะความมีกิเลสทำให้คนอย่างเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ความอยากได้จนเกินตัวจึงทำให้เกิดความรุ่มร้อน คนที่ปรับกิเลส ได้ รู้จักพอเพียง ไม่น่าเอาไม่น่าเป็นจึงทำให้จิตใจสงบและเป็นสุข
6. ตายก่อนตาย คำว่าตายก่อนตาย ท่านพุทธทาสขยายความว่า การปล่อยวาง ละทิ้งภาคยศ สรรเสริญ และทรัพย์สมบัติต่างๆ ได้ก่อนตายจริงๆเพราะสิ่งเหล่านี้เมื่อเราตายจริงๆก็ไม่สามารถนำติดตัวไปได้แม้แต่ชิ้นเดียว คนที่จะละทิ้งปล่อยวางได้ก่อนตายจริงๆ จึงทำให้สุขใจ ไม่ติดยึด
7. ดับไม่เหลือ หมายถึงการดับกิเลสทั้งหลาย โลภะ โมหะ โทสะ ไม่ให้เกิดไฟกิเลสในหัวใจ คือดับไฟทุกข์นั่นเอง

การสร้างทักษะทางปัญญาเพื่อให้จิตเป็นสุข
แนวทางการพัฒนาทักษะทางปัญญาเพื่อความเข้าใจชีวิตและปัญหา รู้เหตุ รู้ผล รู้ทางปฏิบัติ เพื่อการมีชีวิตอันสงบสุข มีแนวทางการพัฒนาโดยมุ่งพัฒนากระบวนการคิดเกี่ยวกับเรื่องราว ของชีวิต ซึ่งอาจพัฒนาได้ด้วยการหมั่นฝึกฝนตนเองในการทำกิจกรรม ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ประเวศ วะสี (อ้างถึงในอรพรรณ พรสีมา, 2543: 37) ได้เสนอแนะกิจกรรมหลัก 10 กิจกรรมในการพัฒนา การคิด ซึ่งอาจนำมาเป็นแนวทางการพัฒนาทักษะทางปัญญาเพื่อการดำรงชีวิตอย่างสงบสุขได้ ดังนี้

1. ฝึกการสังเกตพฤติกรรมของผู้คนในชีวิตประจำวัน - ช่วยให้เกิดวิสัยทัศน์ วิธีคิด สติ สมาธิ
2. ฝึกบันทึกการรับรู้และประสบการณ์ - ช่วยให้เกิดความคล่องตัวในการ จัดระบบข้อมูลและการคิด และเกิด ทักษะการเขียนเพื่อสื่อความคิด
3. ฝึกการพูดนำเสนอข้อมูลต่อกลุ่มหรือที่ประชุม - ช่วยให้เกิดทักษะการพูด การแสดง
ความเห็น
4. ฝึกการฟังให้จับประเด็นได้ถูกต้อง - ช่วยพัฒนาสติ สมาธิ การเชื่อมโยง
ความรู้และแนวคิด
5. ฝึกปุจฉา – วิสัชนา เรื่องราวเกี่ยวกับชีวิต - ช่วยพัฒนาการใช้เหตุผล วิเคราะห์
สังเคราะห์ สรุปสาระความจริงของ
ชีวิต
6. ฝึกตั้งสมมุติฐานและตั้งคำถามจากชีวิตประจำวัน - ช่วยให้อยากรู้อยากเห็น สนใจใฝ่รู้
7. ฝึกค้นหาคำตอบในปัญหาต่างๆ - ช่วยให้คล่องตัว ความคิดกว้างไกล
8. ฝึกวิจัยพฤติกรรมมนุษย์อย่างเป็นระบบ - ช่วยให้ได้องค์ความรู้ รู้จริง รู้สึก
รู้กว้างเกี่ยวกับชีวิต
9. ฝึกเชื่อมโยงบูรนาการประสบการณ์ชีวิต - ช่วยให้เกิดมิติทางจริยธรรมในจิตใจ
จากกาเห็นความสัมพันธ์ของความจริง
ในชีวิต
10. ฝึกเขียนความเรียงเกี่ยวกับชีวิตใจเชิงวิชาการ - ช่วยเพิ่มทักษะการเรียบเรียงความคิด
ให้ประณีตเกิดการพัฒนาตนและผู้อื่น
ในวงกว้างจากการได้ถ่ายทอดความรู้
ความคิด

กิจกรรมหลัก 10 กิจกรรมที่กล่าวมา ผู้ที่มุ่งพัฒนาตนด้านทักษะทางปัญญา หากหมั่นฝึกฝนตนเองด้วยการทำกิจกรรมเหล่านั้นบ่อยๆ สม่ำเสมอต่อเนื่อง ก็จะช่วยให้คิดเก่ง ทำเป็น ส่งผลสู่การแก้ปัญหาได้

ชุมชนและสังคมที่เป็นสุข
สิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้ล้วนมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน มีความเชื่อมโยงและพึ่งพาอาศัยกันไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ สัตว์ หรือธรรมชาติต่างๆ ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างพึ่งพากัน เกื้อกูลกัน เห็นความสำคัญและคุณค่าของกันและกันในส่วนของสังคมมนุษย์ก็เช่นกัน คนทุกคนล้วนเชื่อมโยงสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นลูกโซ่จากตนเอง ขยายวงสู่ครอบครัว จากครอบครัวขยายวงสู่สังคม จากสังคมขยายวงสู่ประเทศชาติ และจากประเทศชาติมาสู่มนุษยชาติ ดังนั้นความคิด พฤติกรรม และลักษณะทางจิตใจ ของคนๆหนึ่งที่เกิดขึ้น ย่อมมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงถึงสังคมโดยรวมเสมอ

ภาพที่ 10-2 แสดงความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับบุคคลกับครอบครัวและชุมชน

การสร้างความสุขในชุมชนและสังคมนั้นก็จะพิจารณาในประเด็นความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน โดยจะแยกเป็น 3 ระดับ คือ
1. คนที่มีความสุข
2. ครอบครัวที่มีความสุข
3. สังคมที่มีความสุข

1. คนที่มีความสุข
ธรรมชาติของคนเรานั้นประกอบด้วยองค์ปรกอบสองส่วนใหญ่ๆ คือร่างกายและจิตใจ ดังนั้นคนที่มีความสุขก็คือคนที่มีร่างกายและจิตใจที่เป็นสุข หรือมีความสุขกายและสุขใจนั่นเอง
1.1 ร่างกายที่เป็นสุข ร่างกายที่เป็นสุข หมายถึงสภาพร่างกายที่แข็งแรง สมส่วนไม่อ้วนหรือไม่ผอมจนเกินไป ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ อวัยวะต่าง ๆ ครบถ้วนสมบูรณ์และสามารถใช้เพื่อประกอบกิจได้อย่างมีคุณภาพ ดังนั้นการเสริมสร้างร่างกายให้มีสภาพร่างกายที่เป็นสุข จึงเป็นหน้าที่ของตนเองในการที่จะดูแลรักษา สุขภาพกายหรือรักษาร่างกายอยู่เสมอด้วย การออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบถ้วนและเหมาะสม การพักผ่อนให้เพียงพอ และหมั่นไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็คร่างกายประจำปีเสมอ พยายามหลีกเลี่ยงและละเว้นการรับประทาน ดื่ม เสพ สิ่งเสพติดหรือสารที่เป็นพิษภัยต่อร่างกาย
1.2 จิตใจที่เป็นสุข สภาพจิตใจที่เป็นสุขนั้นได้กล่าวไว้ในหัวข้อต้น ๆ มากแล้ว แต่เพื่อ ให้เห็นชัดเจนจึงขอสรุปลักษณะของบุคคลที่มีสภาพจิตใจที่เป็นสุข ดังนี้
1) มีอารมณ์สดชื่นแจ่มใส ยิ้มแย้ม สนุกสนาน
2) มองโลกในแง่ดี ไม่หวาดระแวงจับผิดคิดร้ายใคร
3) รู้จักให้อภัยผู้อื่น ไม่ผูกใจเจ็บพยาบาท
4) มีความรู้สึกเอื้ออาทร ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น
5) มีมนุษยสัมพันธ์ดี มีความเป็นมิตรกับทุกคน
6) มีอารมณ์ขันในบางโอกาส
7) มีอารมณ์สุขหรือมองเห็นความสวยงามและความเป็นจริงของธรรมชาติ
8) ยอมรับความเป็นจริงของตนเองและมีความเชื่อมั่นในตนเอง
9) สามารถปล่อยวางไม่ยึดติด ยอมรับในความเป็นจริงของโลกธรรม 8 ได้
10) ปราศจากนิสัยและอารมณ์ที่นำมาซึ่งความทุกข์ เช่น ความเครียด ความกังวลใจ ความกลัว ความโลภ ความโกรธ ความหลง
ความสุขทางกายและความสุขทางใจนั้นมีความสัมพันธ์กัน ไม่สามารถแยกจากกันได้ ถ้าหากสุขภาพกายไม่ดี หรือกายไม่เป็นสุข เช่น มีโรคภัยไข้เจ็บ หรือโรคร้ายบางอย่างก็จะทำให้จิตใจขุ่นมัวขาดความสุขทางใจด้วย และในทางกลับกันถ้าหากมีจิตใจที่เป็นทุกข์ วุ่นวาย ตึงเครียด ก็ทำให้สุขภาพกายทรุดโทรม กินไม่ได้ นอนไม่หลับได้เช่นกัน หรือถ้าตึงเครียดอย่างรุนแรงและเรื้อรัง อาจทำให้เป็นแผลในกระเพาะอาหาร ปริมาณน้ำตาลในเม็ดเลือดสูงขึ้น หรือทำให้เกิดโรคทางกายที่เรียกว่า Psychosomatic ได้เช่นเดียวกัน
ความสุขทางกายและความสุขทางใจไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้โดยบังเอิญ แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจาก การฝึกฝนอบรมและดูแลรักษาด้วยตนเอง ถ้าตนเองคอยตรวจสอบและกำกับดูแลการกระทำทางร่างกายและความคิดความรู้สึกทางอารมณ์เป็นประจำและสม่ำเสมอ ก็จะทำให้เราเข้าใจตนเอง รู้จักตนเอง และสามารถควบคุมพฤติกรรมของตน ควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ เหมาะสม ก็จะทำให้มีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดี คือ มีร่างกายที่เป็นสุข มีจิตใจที่เป็นสุข เมื่อเรามีกายเป็นสุขและใจที่เป็นสุขก็จะทำให้สังคมเป็นสุข ครอบครัวเป็นสุขไปด้วย
2. ครอบครัวที่มีความสุข
ครอบครัวเป็นสถาบันทาสังคมที่มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประเทศชาติ เพราะการพัฒนาประเทศชาตินั้นต้องอาศัยบุคลากรที่มีคุณภาพ ชาติใดสังคมใดที่ประชากรของชาติของสังคมมีคุณภาพ สังคมนั้นประเทศชาตินั้นย่อมเจริญก้าวหน้า แต่ถ้าหากเป็นประชากรที่ด้วยคุณภาพ การพัฒนาก็ลำบาก เกิดปัญหาต่างๆนานา การพัฒนาเป็นไปด้วยความล่าช้า การวัดคุณภาพของประชากรนั้นก็ตรวจสอบได้จากคุณภาพทางวามคิด คุณภาพทางจิตใจและคุณภาพทางทักษะในการปฏิบัติงาน
คุณภาพทางจิตใจ มีความสำคัญยิ่งต่อการสร้างคุณภาพของคน เพราะคนที่มีความฉลาดเป็นเยี่ยมและมีความเก่งเชี่ยวชาญ ในการปฏิบัติงานเป็นยอด แต่มีจิตใจที่ต่ำ ขาดคุณธรรมก็จะเป็นปัญหาต่อประเทศชาติและสังคม ตัวอย่างเช่นปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ที่กำลัง เผชิญอยู่ขณะนี้อาจพูดได้ว่าเป็นเพราะบุคคลที่รับผิดชอบในระดับต่าง ๆ มีคุณภาพต่ำ คำนึงถึงแต่ประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องมากกว่า ประโยชน์ส่วนรวมของชาติ จึงนำไปสู่ปัญหาของชาติ ของบ้านเมืองที่ทุกคนในประเทศองการรับผลกรรมเหล่านั้นร่วมกันอยู่ขณะนี้
บรรยากาศในครอบครัวและการอบรมเลี้ยงดูของบิดามารดาที่มีต่อลูกตั้งแต่วัยแรกเกิด วัยทารก วัยเด็ก วัยเรียน และวัยรุ่น อย่างต่อเนื่องมา จะเป็นการปลูกฝังคุณภาพทางจิตใจของบุคคลได้ดีที่สุด ถ้าบรรยากาศในครอบครัวดี เด็กๆ ได้รับการตอบสนองที่ดี ได้รับความรักความอบอุ่นที่ดี ได้เห็นแบบอย่างของพ่อแม่ที่ดี ได้รับการอบรมชี้แนะที่ดี เหมาะสมสอดคล้องกับวัยก็จะเป็นการวางรากฐานทางจิตใจของเด็กๆ ได้เป็นอย่างดี เรียกได้ว่าถ้าครอบครัวดีมีความสุข ก็จะทำให้ลูก ๆเป็นคนดีมีสุขเช่นกัน
ลักษณะของครอบครัวที่มีความสุข ความสุขของครอบครัวหมายถึงความสุขของสมาชิก ทุกคนในครอบครัวและลักษณะของครอบครัวที่มีความสุข มีลักษณะดังต่อไปนี้
1) สมาชิกในครอบครัวมีความรักใคร่ ห่วงใย เมตตากรุณา และมีความผูกพันกัน
2) สมาชิกในครอบครัว ยอมรับและเคารพในบทบาทหน้าที่ของกันและกัน
3) สมาชิกในครอบครัวศรัทธาและภูมิใจในกันและกัน
4) สมาชิกในครอบครัวมีความซื่อสัตย์และจงรักภักดีต่อ ให้เกียรติกัน
5) พูดจาสุภาพอ่อนโยนต่อกัน ไม่ใช้คำพูดที่หยาบคายหรือขู่กรรโชก
6) มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ รู้จักอดกลั้น อดทน และมีความหนักแน่นต่อปัญหาต่าง ๆ 7) ใช้หลักประชาธิปไตยในการอยู่ร่วมกัน เมื่อมีปัญหาใด ๆ เกิดขึ้นก็ปรึกษาหารือกัน ประนีประนอมกัน ร่วมมือกันในการแก้ปัญหา
8) จัดสรรรายได้-รายจ่ายอย่างเหมาะสม และใช้จ่ายเงินทองอย่างคุ้มค่าและมีประโยชน์ไม่ใช้จ่ายเกินตัวจนมีหนี้สินมากมาย
9) จัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านนอกบ้านได้น่าอยู่ สะอาดสวยงามและเหมาะสม
10) ใช้คุณธรรมทางศาสนาเป็นหลักในการสร้างความสงบทางจิตใจและเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจให้ประกอบแต่กรรมดีเสมอ
ความสุขของครอบครัวเป็นหลักชัยในชีวิตของมนุษย์ในฐานะที่เป็นสัตว์สังคมครอบครัวที่อบอุ่นและครอบครัวที่มีความสุขเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา แต่ความสุขในคอบครัวนั้นต้องเกิดจากการร่วมมือกันสร้างทุก ๆ คน ทั้งบิดา มารดา บุตร ธิดา แม้กระทั่งผู้อาศัยหรือคนรับใช้ก็มีส่วนรับผิดชอบด้วย เพราะการให้ความสุขแก่กันและกันนั้นเป็นหน้าที่ของทุก ๆคน บรรยากาศในครอบครัวที่ดีและอบอุ่นย่อมทำให้ผู้ที่อยู่อาศัยอบอุ่นและมีจิตใจที่ดีงาม เมื่อทุกคนในครอบครัวมีจิตใจที่ดีงาม มีความสุข ก็จะนำความดีงามหรือความสุขนั้นเข้าสู่นั้นเข้าสู่สังคมและชุมชน ทำให้สังคมดีงามและเป็นสังคมแห่งความสุข
3. สังคมที่มีความสุข
สังคมมนุษย์จะมีความแตกต่างจากสังคมของสัตว์ การรวมตัวกันเป็นกลุ่ม เป็นสังคมของสัตว์นั้นจะเกิดโดยสัญชาตญาณ แต่สังคมมนุษย์นั้นเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ สังคมแห่งปัญญาเป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมและอารยธรรม เมื่อมนุษย์มาอยู่ร่วมกันมากเข้าจึงจำเป็นต้องกำหนดกรอบ ความคิด กรอบการกระทำ และคุณธรรมทางจิตใจ เพื่อให้คนในกลุ่มในสังคมได้ถือปฏิบัติ เพื่อความสงบสุขและสันติของสังคมนั้นๆ กรอบความคิดและพฤติกรรมต่างๆ ที่เรียกว่าวัฒนธรรม
กรอบพฤติกรรมหรือกฎระเบียบต่างๆ ของสังคมที่กำหนดขึ้นมากเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการอยู่ร่วมกัน ให้เกิดความสงบสุขในสังคม
ลักษณะของสังคมที่มีความสุข มีลักษณะดังนี้
1. สังคมแห่งการพึ่งพาอาศัยและเกื้อกูลกัน สังคมใดก็ตาม ถ้าหากสมาชิกของสังคมให้ความช่วยเหลือกันและกันเอื้ออาทรต่อกนพึ่งพาอาศัยกัน มีความห่วงใยกัน จะทำให้สังคมน่าอยู่และเป็นสุข เช่น ในสังคมชนบทที่ห่างไกล จะเป็นสังคมที่น่าอยู่และเป็นสุขมากกว่าสังคมในเมืองใหญ่ที่ต่างคนต่างอยู่ ไม่สนใจกัน ไม่เอื้ออาทรต่อกัน
2. สังคมแห่งความเสียสละ ถ้าสมาชิกในสังคมมีความเสียสละแก่กัน การเสียสละนั้นเป็นการให้ที่ไม่ได้หวังสิ่งตอบแทน การเสียสละ การให้ หรือการแบ่งปันกันจะเป็นการสร้างน้ำใจสร้างความผูกพัน นำไปสู่ความรักความปรารถนาดีต่อกัน ก็ทำให้สังคมน่าอยู่และเป็นสุข
สังคมที่สมาชิกมีความเห็นแก่ตัว มีแต่จะเอาหรือแสวงหา กอบโกยจากสังคม ก็จะนำไปสู่การแก่งแย่ง แข่งขัน นำมาซึ่งความเดือดร้อน ไม่มีที่สิ้นสุด
3. สังคมแห่งคุณความดี สังคมแห่งคุณความดีเป็นสังคมที่สมาชิกในสังคมยอมรับนับถือในคุณงามความดี ยกย่องเชิดชูคนที่ทำความดี เคารพคนที่มีคุณความดีมากกว่าเคารพที่วัตถุ ทุกวันนี้สังคมมักจะชื่นชมตนที่มีเงินทองมาก ร่ำรวย หรือมีอำนาจมาก ทั้ง ๆ ที่การได้มาซึ่งทรัพย์สมบัติเหล่านั้น หรืออำนาจนั้น ๆ อาจได้มาด้วยความมิชอบ จึงทำให้คนแสวงหาวัตถุกันมากกว่าการพยายามทำความดี
4. สังคมแห่งความสามัคคี ความสามัคคีกลมเกลียวของสมาชิกในสังคมจะสร้างความเข้มแข็งและความเป็นปึกแผ่นให้กับสังคม ทำให้เกิดพลังได้มากกว่าสังคมที่แบ่งแยกหรือแตกแยก ความแตกแยกมักจะนำมาซึ่งความสูญเสีย ความพ่ายแพ้และความล้มเหลว แต่สังคมที่สามัคคีจะนำมาซึ่งชัยชนะ ความสำเร็จและความสุข
5. สังคมแห่งความเสมอภาค สังคมที่เป็นสุข สมาชิกทุกคนควรมีความเท่าเทียมกันไม่มีอภิสิทธิ์ชน มีความเท่าเทียมกันหรือเสมอภาคกันในทุก ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การเข้าทำงาน หรือการรับบริการต่างๆ ทุกคน ทุกอาชีพ ทุกระดับต้องมีความเท่าเทียมกัน
6. สังคมแห่งความมีวินัย วินัยเป็นสิ่งที่กำกับควบคุมความประพฤติของบุคคล ถ้าสังคมมีวินัย ทุกคนปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และระเบียบกฎหมายบ้านเมือง รู้ว่าควรปฏิบัติอย่างไรในสถานการณ์ใด ก็จะทำให้เกิดความมีระเบียบ ความสวยงามในสังคม ทำให้สมาชิกของสังคมมีสุขภาพจิตที่ดี มองไปทางไหนเห็นแต่สิ่งที่สวยงามเรียบร้อย
แต่ถ้าหากสมาชิกหย่อนวินัย ไม่เคารพกฎเกณฑ์ระเบียบแบบแผน คิดอยากจะปฏิบัติเช่นไรก็ทำตามใจชอบ จอดรถตามใจชอบ ขับรถตามใจชอบ ระเบียบกฎเกณฑ์ไม่มีความสำคัญก็ทำให้เกิดความสับสนวุ่นวาย ลองหลับตานึกดูว่าถ้าตนขับรถทุกคนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจราจรแล้วจะเป็นเช่นไร ไม่ว่าคนใช้ถนน คนขับรถคงสับสนอลหม่าน เกิดปัญหาต่างๆนานัปการเกิดผลเสียหายต่อสังคมส่วนรวม
7. สังคมประชาธิปไตย สังคมประชาธิปไตยหมายถึงสังคมที่ยอมรับในมติเสียงส่วนมาก เครารพในสิทธิเสรีภาพของกันและกัน ทุกคนมีอิสระและเสรีภาพของตนเอง และ ไม่ก้าวล่วงสิทธิของบุคคลอื่น เคารพความคิดเห็นของกันและกัน และเมื่อเกิดปัญหาใดๆในสังคมก็ให้ทุกคนได้มีส่วนในการแสดงความคิดเห็น ในสังคมประชาธิปไตยนั้น ทุกคนต้องมีส่วนร่วมร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมรับในผลการกระทำนั้น ๆ ร่วมกัน ตามสัดส่วนที่เป็นธรรม
8. สังคมแหงความพอดี ความพอดี หมายถึงความเหมาะสมไม่มากเกินไปหรือไม่น้อยเกินไป การกระทำทุกๆอย่างถ้ามีความพอดีแล้วจะนำมาซึ่งความสุข เช่น การกินที่พอดี การใช้จ่ายที่พอดี การออกกำลังกายที่พอดี หรือการทำธุรกิจที่พอดีกับสถานะของตน ก็จะทำให้รู้สึกสบายใจพอใจ ไม่เครียด
จากลักษณะทั้ง 8 ประการดังกล่าวเป็นลักษณะที่เป็นสิงชี้วัดถึงความสงบสุขและความเป็นสุขของสังคม แต่มิได้หมายถึงว่า สังคมที่เป็นสุขต้องมีลักษณะเพียง 8 ประการนี้เท่านั้น คนทุกคนในฐานะที่เป็นสมาชิกของสังคม ถ้าให้ความร่วมมือกันและเห็นคุณค่าของสังคมและการเสริมสร้างความสุขให้กับสังคม เมื่อสังคมมีสุขก็ย่อมส่งผลต่อตนเอง ทำให้ตนเองมีความสุขด้วยเช่นเดียวกัน

สรุป
ความสุขของมนุษย์มีความหมายสองแบบ แบบที่หนึ่ง ความสุขหมายถึงความพึงพอใจที่เกิดจากการได้รับการตอบสนองในสิ่งที่พึงปรารถนา และอีกแบบหนึ่งความสุขหมายถึงความสงบทางจิตใจที่เป็นอิสระ ไม่ติดยึดกับสิ่งต่าง ๆ ซึ่งความสุขทั้ง 2 แบบนี้ ในแบบที่หนึ่งนั้นเรียกว่ากามสุขแต่ความสุขในแบบที่สองเรียกว่า “ใจเป็นสุข” แต่ตามแนวคิดทางปรัชญานั้น ที่อธิบายความสุขเป็นสามแนวคิด คือ ลัทธิสุขนิยม เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อแสวงหาความสุข มนุษย์ทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งความสุขทั้งสิ้น ความสุขตามแนวคิดลัทธิวิมุตินิยม เชื่อว่าความสงบทางจิตใจเป็นภาวะที่อยู่เหนือความสุขและความทุกข์ ส่วนลักทธิปรัชญานิยมเชื่อว่าความสุขความภูมิใจอยู่ที่การค้นพบ การแสวงหาและการเรียนรู้สิ่งต่างๆชุมชนและสังคมนั้นประกอบด้วย สังคม ครอบครัว และบุคคล ดังนั้น การที่จะสร้างสังคมและชุมชนเป็นสุขได้ต้องให้บุคคลเป็นสุข ครอบครัวที่เป็นสุขและสังคมที่เป็นสุข ลักษณะของสังคมที่เป็นสุขนั้นควรเป็นสังคมแห่งการพึ่งพา อาศัยกัน สังคมแห่งความเสียสละ สังคมแห่งความสามัคคี สังคมแห่งวินัย สังคมแห่งประชาธิปไตย และสังคมแห่งความพอดี หรือความพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็กพระเจ้าอยู่หัว