18 ธันวาคม 2552

เพิ่มเติมการเขียนโครงร่าง โครงการพัฒนาตนเอง


นักศึกษาระบุการระทำ

หรือระบุความรู้สึก /อารมณ์/ สังคม/จิตใจ/ จิตวิญญาณ เลือกมาด้านเดียวหรือสองด้านที่สัมพันธ์กัน

เพื่อนำมาพัฒนา ให้เป็นรูปธรรม

บทที่ 3 องค์ประกอบของพฤติกรรมมนุษย์

บทที่ 3
องค์ประกอบของพฤติกรรมมนุษย์

การเกิดพฤติกรรมของมนุษย์นั้น เป็นผลมาจากการผสมผสานขององค์ประกอบต่างๆในตัวมนุษย์ แล้วจึงถูกกล่อมเกลาด้วยสิ่งแวดล้อม ในบทนี้จะกล่าวถึงองค์ประกอบสำคัญที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ที่เป็นองค์ประกอบภายในตัวมนุษย์เอง ได้แก่ การรับรู้ สติปัญญา การคิด เจตคติ และอารมณ์
การรับรู้ (Perception) ความหมายของการรับรู้
การรับรู้ หมายถึง การแปลความหมายจากการสัมผัส
การรับรู้จึงต้องกระบวนการสัมผัส โดยเริ่มตั้งแต่การมีสิ่งเร้ามากระทบกับอวัยวะรับสัมผัสทั้งห้า และส่งประสาทไปยังสมองเพื่อการแปลความ
องค์ประกอบของการรับรู้
1. สิ่งเร้า ได้แก่วัตถุ แสง เสียง กลิ่น รสต่าง
2. อวัยวะรับสัมผัส ได้แก่ หู ตา จมูก ลิ้น ผิวหนัง ถ้าไม่สมบูรณ์จะทำให้สูญเสียการรับรู้ได้
3. ประสาทในการรับสัมผัส เพื่อเป็นตัวกลางส่งกระแสประสาทจากอวัยวะรับสัมผัสไปยังสมองส่วนกลางเพื่อการแปลความต่อไป
4. ประสบการณ์เดิม การรู้จัก การจำได้ ทำให้การรับรู้ได้ดีขึ้น
5. ค่านิยม ทัศนคติ เช่นการวาดรูปเหรียญ เด็กยากจนวาดเหรียญใหญ่กว่าเด็กมีเงิน รับรู้ว่า เหรียญมีค่ามาก
6. ความใส่ใจ ความตั้งใจ ข้อมูลที่สิ่งเกระทบกับอวัยวะรับสัมผัสอาจสูญหายได้ถ้าไม่มีความตั้งใจ สนใจรับรู้
7. สภาพจิตใจอารมณ์ เช่นการคาดหวัง ความดีใจ เสียใจ
8. ความสามารถทางสติปัญญา ทำให้รับรู้ได้เร็ว รวมทั้งความสามารถในการประมวลความรู้เพื่อแปลความได้เร็วขึ้น
การจัดระบบการรับรู้ (Percptual Organization) 1994:335)
มนุษย์เมื่อพบสิ่งเร้าไม่ได้รับรู้ตามที่สิ่งเร้าปรากฏแต่จะนำมาจัดระบบตามหลักดังนี้
1. หลักแห่งความคล้ายคลึง (Principle of similarity) ความว่าสิ่งเร้าใดที่มีความคล้ายกันจะรับรู้ว่าเป็นพวกเดียวกัน
2. หลักแห่งความใกล้ชิด (Principle of Proximity) หมายถึง สิ่งเร้าที่มีความใกล้กันจะรับรู้ว่าเป็นพวกเดียวกัน
3. หลักแห่งความสมบูรณ์ (Principle of closure) เป็นการรับรู้สิ่งที่ไม่สมบูรณ์ให้สมบูรณ์ขึ้น

สติปัญญา (Intelligence)
แมคเนมาร์ (McNemar) ได้สรุปความหมายของสติปัญญา ที่นักจิตวิทยากลุ่มต่างๆ ได้กล่าวไว้ ว่าแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มดังนี้
กลุ่มที่ 1 ให้ความหมายของสติปัญญาในแง่ของ ความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม(Adaptation) ผู้ที่มีสติปัญญาสูง จะปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่าผู้มีสติปัญญาต่ำ
กลุ่มที่ 2 ให้ความหมายของสติปัญญาว่า เป็นความสามารถในการแก้ปัญหา(Problem solving) ผู้มีสติปัญญาสูง จะแก้ปัญหาได้ดีกว่าผู้มีสติปัญญาต่ำ
กลุ่มที่ 3 ให้ความหมายของสติปัญญาว่าเป็นเรื่องของความสามารถในการคิดแบบนามธรรม(Abstract thinking) ผู้มีสติปัญญาสูง จะคิดแบบนามธรรมได้ดีกว่าผู้มีสติปัญญาต่ำ
กลุ่มที่ 4 ให้ความหมายของสติปัญญาว่าเป็นความสามารถในการเรียนรู้ (Learning) ผู้ที่มีสติปัญญาสูงจะเรียนรู้ได้เร็วกว่าผู้มีสติปัญญาต่ำ
การทำความเข้าใจว่าสติปัญญาคืออะไรนั้น หากได้นำแง่มุมที่นักจิตวิทยาทั้งหลายได้ให้ไว้มาผสมผสานกัน จะทำให้เข้าใจความหมายของ สติปัญญาได้กว้าง และชัดเจนขึ้น
จากข้อความที่กล่าวข้างต้นทั้งหมด อาจสรุปเกี่ยวกับสติปัญญาได้ว่า สติปัญญาเป็นความสามารถภายในตัวบุคคลที่จะทราบได้จากพฤติกรรมที่บุคคลแสดงออก ระดับของสติปัญญาสังเกตได้จากการแสดงออกที่มีความคล่องแคล่ว รวดเร็ว ความถูกต้อง ความสามารถในการคิด การแก้ปัญหา และการปรับตัว การใช้แบบทดสอบวัดสติปัญญาจะทำให้ทราบระดับสติปัญญาชัดเจนขึ้น
ทฤษฎีสติปัญญา
ได้มีการศึกษาและสรุปเป็นทฤษฎีเกี่ยวกับสติปัญญาหลายทฤษฎี แต่ละทฤษฎีก็พยายามอธิบายสติปัญญาว่ามีองค์ประกอบใดบ้าง
สเปียร์แมน (Spearman) ผู้ตั้งทฤษฎี 2 องค์ประกอบ ซึ่งสรุปว่า สติปัญญาประกอบด้วย 2 องค์ประกอบ ได้แก่
1. องค์ประกอบทั่วไป(General factor หรือ g factor) คือความสามารถพื้นฐานในการกระทำต่างๆ ที่ทุกคนต้องมี
2. องค์ประกอบเฉพาะ (Specific factor หรือ s factor) คือความสามารถเฉพาะที่แต่ละคนมีแตกต่างกันออกไป หรือที่เรียกกันว่า ความถนัดหรือพรสวรรค์
เธอร์สโตน (Thurstone) เจ้าของทฤษฎีหลายองค์ประกอบ แยกองค์ประกอบของสติปัญญามนุษย์ออกเป็น 7 ด้าน ได้แก่
1. ด้านความเข้าใจในภาษา(Verbal comprehension)
2. ด้านความคล่องแคล่วในการใช้ถ้อยคำ(Word fluency)
3. ด้านตัวเลข การคิดคำนวณทางคิณตศาสตร์(Number)
4. ด้านมิติสัมพันธ์ การรับรู้รูปทรง ระยะ พื้นที่ ทิศทาง(Spatial)
5. ด้านความจำ (Memory)
6. ด้านความรวดเร็วในการรับรู้(Perceptual speed)
7. ด้านการให้เหตุผล (Reasoning)
การ์ดเนอร์ (Gardner, 1986. อ้างจาก Feldman, 1994:274-275) เสนอทฤษฎีพหุปัญญา(Multiple intelligences) ซึ่งสรุปว่าสติปัญญาประกอบไปด้วยความสามารถที่แสดงออกในรูปของทักษะ7ด้าน ได้แก่
1. สติปัญญาด้านดนตรี (Musical intelligence) ได้แก่ทักษะในงานที่เกี่ยวกับดนตรี ผู้มีสติปัญญาด้านดนตรี สูงจะมีความสามารถในด้านนี้ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด เช่นการรับรู้เสียงดนตรีการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วในการเล่นดนตรี
2. สติปัญญาด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย(Bodily kinesthetic intelligence) เป็นทักษะในการใช้ร่างกายทุกส่วน หรือบางส่วนในการเคลื่อนไหว แสดงออกได้อย่างคล่องแคล่ว กลมกลืนเช่นในการลีลาศ เล่นกีฬา การฟ้อนรำ การแสดงละคร
3. สติปัญญาด้านการใช้เหตุผลเชิงคณิตศาสตร์ (Logical-mathematical intelligence) เป็นทักษะในการคิด การคำนวณ การแก้ปัญหาในเชิงคณิตศาสตร์
4. สติปัญญาด้านภาษา (Linguistic intelligence) เป็นทักษะในการใช้ภาษา การเรียงร้อยถ้อยคำในการพูด การเขียนและการสื่อความต่างๆ
5. สติปัญญาด้านมิติสัมพันธ์(Spatial intelligence) เป็นทักษะที่เกี่ยวกับมุมมอง การจัดรูปแบบ การกำหนดระยะ การเว้นช่วงระยะ การจัดลำดับ การใช้พื้นที่ และการเก็บรายละเอียดต่างๆของสิ่งที่เห็น
6. สติปัญญาด้านสัมพันธภาพกับผู้อื่น(Interpersonal intelligence) เป็นทักษะการติดต่อกับบุคคลอื่นๆความไวในการรับรู้อารมณ์ ความรู้สึก และความต้องการของบุคคลที่ติดต่อด้วย
7. สติปัญญาด้านการเข้าใจตนเอง (Intrapersonal intelligence) เป็นทักษะในการรับรู้ และเข้าใจลักษณะต่างๆภายในตนเอง สามารถประเมินอารมณ์และความรู้สึกของตนเองได้ โดยสรุปแล้วทฤษฎีทางสติปัญญาแต่ละทฤษฎี ก็พยายามที่จะชี้ให้เห็นว่าบุคคลแต่ละบุคคลมีความสามารถที่แตกต่างกัน มีความแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับว่า มีสติปัญญาด้านใดสูง

สิ่งที่มีอิทธิพลต่อสติปัญญา
ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับ โดยทั่วไปว่าสิ่งที่มีอิทธิพลต่อสติปัญญา ได้แก่ พันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งร่วมกันมีบทบาทต่อระดับของสติปัญญามนุษย์
พันธุกรรม เป็นการถ่ายทอดลักษณะทางสายพันธุ์จากบรรพบุรุษไปยังลูกหลานซึ่งพิจารณาได้ในเรื่องต่อไปนี้ คือ ระดับสติปัญญา เพศ วัย และเชื้อชาติ
สิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อสติปัญญานั้น เริ่มตั้งแต่การปฏิสนธิ จนถึงการเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ สิ่งแวดล้อมที่สำคัญได้แก่สิ่งต่อไปนี้ คือ ความพร้อมในการตั้งครรภ์ อาหาร โรคภัยไข้เจ็บ การประสบอุบัติเหตุ การอบรม และการจัดสิ่งแวดล้อม

การพัฒนาสติปัญญา
เนื่องจากสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสติปัญญา มีอยู่ 2 ปัจจัยที่สำคัญ ได้แก่ พันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ในการพัฒนาสติปัญญา จึงควรพิจารณาที่ปัจจัยทั้ง 2 นี้
1. ในเรื่องของพันธุกรรม เท่าที่จะทำได้ คือ การเลือกคู่ครอง นอกจากพิจารณาความเหมาะสมในด้านต่างๆแล้ว ระดับสติปัญญาของคู่ครอง ควรเป็นสิ่งหนึ่งที่ควรพิจารณา รวมไปถึงความพร้อมในการมีบุตร
2. ในด้านสิ่งแวดล้อมที่จะช่วยในการพัฒนาสติปัญญา ควรจะเริ่มตั้งแต่การดูแลลูกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ การให้อาหาร ยา การอบรมเลี้ยงดู การให้การศึกษา และจัดสิ่งแวดล้อม และประสบการณ์ต่างๆที่เหมาะสมกับตัวเด็กเพื่อให้ได้ฝึกการคิด การแก้ปัญหาและได้ปฏิบัติด้วยตนเอง เป็นการเรียนรู้และการใช้สติปัญญา

การคิด (Thinking)
การคิด เป็นกระบวนการทำงานของสมองในการสร้างสัญลักษณ์ หรือภาพ ให้ปรากฏในสมอง ความสามารถในการคิดนั้น มีความสัมพันธ์กับระดับสติปัญญา
ลักษณะพื้นฐานของการคิด
การคิด แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ดังนี้
1. ความคิดรวบยอด (concept)
2. จินตนาการ (imagination)
ความคิดรวบยอด เป็นลำดับขั้นที่เกิดจากการทำงานของสมอง ในการจัดกลุ่ม หรือ การสรุปรวม ที่จะทำความเข้าในสิ่งของ บุคคล เรื่องราว ประสบการณ์ ต่างๆที่ได้รับรู้ หรือต่อความคิดเห็น เพื่อให้เกิดความชัดเจน ว่าคืออะไร เช่น การรับรู้ มะม่วง ชมพู่ ส้ม มังคุด ว่าเป็นผลไม้ รับรู้ สุนัข แมว หมู เป็ด ไก่ ว่าเป็นสัตว์เลี้ยง
จินตนาการ เป็นสร้างภาพขึ้นในสมอง ตามความนึกคิดของตนเอง เป็นผลมาจากการสะสมการรับรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ผสมกับ ความต้องการ ความสนใจ ความคาดหวัง อารมณ์ และความรู้สึกของบุคคล การจินตนาการในสิ่งเดียวกันของบุคคลแต่ละคน จะแตกต่างกันออกไป
ลักษณะพื้นฐานของการคิดที่กล่าวถึงข้างต้น ทำให้เกิดการคิด 2รูปแบบได้แก่
1. การคิดอย่างมีเป้าหมาย
2. การคิดอย่างไม่มีเป้าหมาย
การคิดอย่างมีเป้าหมาย เป็นกระบวนการคิดที่มีขั้นตอน มีทิศทางเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ การคิดอย่างมีเป้าหมาย ที่มีความสำคัญต่อพฤติกรรมมนุษย์ ได้แก่
1. การคิดหาเหตุผล (Reasoning) เป็นการสรุปความคิดจากข้อมูลที่มีอยู่ โดยสามารถอธิบายได้ด้วยหลักของเหตุผล ซึ่งอาจคิดจากหลักการไปสู่รายละเอียดหรือข้อเท็จจริงย่อยๆ (คิดแบบนิรนัย) หรือคิดจากข้อเท็จจริงย่อยๆไปสู่หลักการ(คิดแบบอุปนัย)
2. การตัดสินใจ (Decision Making) เป็นการเลือกทางปฏิบัติ ในกรณีที่มีตัวเลือกมากกว่า 1 ทางเลือก
3. การคิดแก้ปัญหา (problem solving) เป็นการหาวิธีจัดการกับความยุ่งยากที่เกิดขึ้น
4. การคิดสร้างสรรค์ (creativity) เป็นการหาวิธีการ แนวทาง รูปแบบ สิ่งแปลกใหม่ ที่มีประโยชน์
5. การคิดวิเคราะห์วิจารณ์(Critical thinking) เป็นการคิดถึงความสมเหตุสมผล ความเป็นไปได้ ความสอดคล้องต้องกัน โดยการพิจารณาไตร่ตรองถึงผลดี ผลเสีย อย่างรอบครอบแล้ว
การคิดอย่างไม่มีเป้าหมาย เป็นการคิดที่เป็นไปตามจินตนาการ ความรู้สึก ความคาดหวัง และอารมณ์ ขาดขั้นตอนที่ชัดเจน

เจตคติ (Attitude)
ความหมายของเจตคติ
เจตคติเป็นสภาพความพร้อมของความคิด ความรู้สึก และแนวโน้มพฤติกรรมของบุคคลอันเป็นผลมาจากประสบการณ์ สภาวะนี้ เป็นแรงที่จะกำหนดทิศทางของพฤติกรรมของบุคคล ต่อเหตุการณ์ สิ่งของ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง
องค์ประกอบของเจตคติ
เจตคติของบุคคล ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ สำคัญ ซึ่ง เฟลด์แมน (Feldman, 1994:489-490) ได้กล่าวถึงองค์ประกอบของเจตคติไว้เป็นรูปแบบ ABC (ABC Model)ดังนี้
1. องค์ประกอบด้านความรู้สึก (Affective component –A) เป็นความรู้สึกชอบ ไม่ชอบ พอใจ ไม่พอใจ ที่บุคคลมีต่อบุคคล สิ่งของ หรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่รับรู้
2. องค์ประกอบด้านพฤติกรรม (Behavioral component-B) เป็นการเตรียมพร้อมของบุคคลที่จะแสดง หรือไม่แสดงพฤติกรรม ต่อบุคคล สิ่งของ หรือเหตุการณ์ต่างๆที่รับรู้
3. องค์ประกอบด้านความคิด (Cognitive component –C) เป็นความรู้ หรือความคิดของบุคคลที่มีต่อบุคคล สิ่งของ หรือสถานการณ์ต่างๆที่รับรู้ว่าเป็นสิ่งที่ดี ไม่ดี ถูกต้อง ไม่ถูกต้อง เหมาะสม ไม่เหมาะสม ให้คุณ ให้โทษ
องค์ประกอบทั้ง 3 นี้ จะมีความสัมพันธ์สอดคล้องกัน หากองค์ประกอบด้านใดด้านหนึ่งเปลี่ยนแปลงไป เจตคติของบุคคลนั้นก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย
ลักษณะของเจตคติ
เจตคติของบุคคลมิได้มีมาแต่กำเนิด เจตคติ มีกระบวนการพื้นฐานมาจากการเรียนรู้ จากประสบการณ์ที่ได้รับ (Baron, 1996:529) การเกิดเจตคติต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งของบุคคลนั้น เกิดได้จากหลายวิธี (ประภาเพ็ญ สุวรรณ, 2520:121-122) เช่น เกิดจากการเลียนแบบบุคคลที่เขาศรัทธา นิยมชมชอบ สังเกตจากการกระทำของบุคคลอื่น และดูผลว่าจะเกิดอะไรขึ้น จากประสบการณ์ที่นำความพอใจ หรือไม่พอใจมาให้ จากการได้รับข้อมูล ความรู้จากแหล่งต่างๆ จากกลุ่มเพื่อน จากการรับฟังความคิดเห็นของบุคคลอื่น เป็นต้น เจตคติสามารถเปลี่ยนแปลง และพัฒนาให้เกิดขึ้นใหม่ได้แต่ต้องอาศัยระยะเวลา และกระบวนการหลายอย่าง


ลักษณะของเจตคติ สรุปได้ดังนี้
1. เจตคติไม่ใช่พฤติกรรม แต่เป็นสภาวะของจิตใจซึ่งเป็นแนวโน้มของการแสดงพฤติกรรมว่าจะเป็นเชิงบวก หรือเชิงลบ
2. เจตคติเกิดจากการเรียนรู้ จากสิ่งแวดล้อมและประสบการณ์ เมื่อบุคคลเรียนรู้ว่าสิ่งใดทำให้เกิดความพึงพอใจ เกิดผลดี ก็จะเกิดเจตคติเชิงบวก หากเป็นไปในทางตรงข้ามมักจะเกิดเจตคติเชิงลบ ต่อสิ่งนั้น
3. เจตคติเกิดจากการเรียนรู้ ความรู้สึกที่รุนแรง หรือที่สะสมมาเป็นเวลานาน หรือประสบการณ์ที่ทำให้เกิดความคิด ความรู้สึกที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันซ้ำๆ จะทำให้เกิดเจตคติได้เร็ว และมั่นคง
4. เจตคติเป็นสิ่งซับซ้อน บุคคลแต่ละคน จะมีเจตคติต่อสิ่งเดียวกันแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ ภูมิหลังของบุคคล ประสบการณ์ การรับรู้ และการเรียนรู้ของแต่ละคนต่อสภาพการณ์ที่เกิดขึ้น
5. เจตคติอาจใช้ในการคาดคะเนพฤติกรรมของบุคคลโดยทั่วไปได้ แม้จะไม่ทุกกรณีก็ตามเพราะโดยทั่วไปแล้ว บุคคลที่มีเจตคติดีต่อสิ่งใด ก็จะแสดงพฤติกรรมที่ดีต่อสิ่งนั้น เช่น ผู้มีเจตคติดีต่อกีฬา ก็จะแสดงพฤติกรรมที่ดีในเรื่องที่เกี่ยวกับกีฬา เช่น ดูกีฬา ติดตามข่าวเกี่ยวกับกีฬา เป็นต้น
6. ถึงแม้เจตคติจะมีความคงทน และแน่นอนพอสมควร แต่เจตคติก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ถ้ามีการวางเงื่อนไข หรือจัดสภาพสิ่งแวดล้อม ที่เหมาะสมกับบุคคล และดำเนินการอย่างต่อเนื่องกัน
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงเจตคติ
ปัจจัยที่พื้นฐานจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเจตคติ ที่ควรคำนึงถึงก็คือ แหล่งที่มาของข่าวสารข้อมูล เนื้อหาของข้อมูล วิธีการสื่อสาร และ กลุ่มหรือบุคคลเป้าหมายที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเจตคติ โฮฟแลนด์ จานิส และ เคลลี (Hovland, Janis, และ Kelly, 1985อ้างจาก Baron, 1996:529-530) ได้เสนอผลการศึกษาที่พบว่าปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเจตคติดังต่อไปนี้
1. ผู้เชี่ยวชาญ จะมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงเจตคติของบุคคล มากกว่าผู้ไม่เชี่ยวชาญ เพราะบุคคลทั่วไปย่อมจะศรัทธา และให้ความเชื่อถือในผู้เชี่ยวชาญมากกว่าอยู่แล้ว (Hovland & Weiss,1955)
2. ข้อมูลข่าวสารที่เป็นกลาง จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเจตคติของบุคคล มากกว่าข้อมูลข่าวสารที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามีเจตนาที่ให้ผู้รับคล้อยตาม และบ่อยครั้งที่ข้อมูลข่าวสารประเภทหลังนี่ ได้รับการต่อต้านแทนที่จะได้รับการคล้อยตาม (Walster & Festinger, 1962)
3. แหล่งข้อมูลที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จัก อยู่ในความสนใจ และได้รับความนิยมชมชอบ มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงเจตคติ มากกว่าแหล่งข้อมูล ที่ธรรมดาทั่วๆไป (Kiesler&Kiesler,1969)
4. บุคคลที่มีอัตมโนทัศน์ (self-concept) ต่ำ จะถูกชักจูงให้เปลี่ยนแปลงเจตคติได้ง่ายกว่าบุคคลที่มีอัตมโนทัศน์สูง (Janis,1954)
5. กับบุคคลที่รู้ข้อมูลด้านเดียว การสื่อสารที่ให้ข้อมูลข่าวสารทั้ง 2 ด้าน คือทั้งด้านดี และ ด้านไม่ดี จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเจตคติได้ดีกว่า ส่วนบุคคลที่รู้ข้อมูลทั้ง 2 ด้าน การสื่อสารที่ให้ข้อมูลด้านเดียว จะให้ผลในการเปลี่ยนแปลงเจตคติได้ดีกว่า
6. วิธีการสื่อสารด้วยการพูดที่คล่อง ชัดเจน และเป็นธรรมชาติ จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลง เจตคติ มากกว่าการพูดช้าๆ และไม่ต่อเนื่อง เพราะการพูด แสดงถึงการมีความสามารถ และความน่าเชื่อถือ (Miller,และคณะ:1976)

อารมณ์ (Emotion)
ความหมาย
นายแพทย์เทิดศักดิ์ เดชคง (2542:20) กล่าวถึงอารมณ์ว่า เป็นสภาวะทางจิตใจที่มีผลมาจากตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น ทั้งที่มาจากภายใน ได้แก่ความไม่สบาย ความเจ็บปวด และอาจมาจากสิ่งเร้าภายนอก เช่น บุคคล อุณหภูมิ ดินฟ้าอากาศ อารมณ์อาจมีความหมายได้หลายแง่ ทั้งแง่ดี แง่ไม่ดี
อารี เพชรผุด (2541:210) ให้ความหมายไว้ว่า อารมณ์ คือภาวะที่อินทรีย์ (Organism) ถูกเร้า ให้เกิดการตอบสนอง หรือที่เรียกว่า ผลกระทบจากสิ่งเร้า ไม่ว่าผลกระทบนั้นจะหนักหรือ เบา ก็ตาม จะทำให้เกิดปฏิกิริยาขึ้นได้และมีการแสดงออกได้เป็น 3 แบบ คือ
1. แบบที่เกิดทันทีทันใด (Emotional experience) เช่น รู้สึกโกรธ กลัวดีใจ
2. พฤติกรรมที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากอารมณ์ (Emotional behavior) เช่นกล่าวคำสบถสาบานเมื่อรู้สึกโกรธ กระโดดโลดเต้นเมื่อรู้สึกดีใจ
3. เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย (Physical change) เช่น หน้าแดง มือสั่น ปากสั่น
อารมณ์กับความรู้สึกเป็น สิ่งที่ต่อเนื่องกัน และยากที่จะแยกแยะว่าอันไหนเป็นความรู้สึก (Feeling) อันไหนเป็นอารมณ์ (emotion) เพราะเป็นภาวะที่ต่อเนื่องกัน จากความรู้สึกที่ธรรมดา ไปจนถึงความรู้สึกที่ธรรมดา ไปจนถึงความรู้สึกที่รุนแรง
Feldman (1994:320) กล่าวว่า อารมณ์ เป็นความรู้ต่างๆ(Feeling) เช่น สุข เศร้า เสียใจ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมีผลต่อ กระบวนการทางสรีระ และทางความคิด ซึ่งร่วมกันทั้งหมดมีผลต่อการแสดงพฤติกรรม
Baron (1996:354)สรุปไว้ว่า อารมณ์เป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจากกรเปลี่ยนแปลงกายภาพ ระดับของการคิดแบบอัตนัย และพฤติกรรมที่แสดงออก
อาจกล่าวสรุปได้ว่า อารมณ์เป็นความรู้สึกชนิดต่างๆ ที่บุคคลมีต่อสิ่งเร้า ความรู้สึกเหล่านี้ อาจรุนแรง หรอเบาบางกว่าปกติ และอาจเกิดขึ้นพร้อมกับมีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพร่วมไปด้วย

ทฤษฎีทางอารมณ์
ทฤษฎีของเจมส์ – แลงค์ ( James-Lange -Theory) เป็นทฤษฎีที่วเลี่ยม เจมส์ (William James) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน และ คาร์ล จี แลงค์ (Carl G.Lange) แพทย์ชาวเดนมาร์ก ทั้ง 2 มีแนวคิดที่ตรงกันว่า อารมณ์เป็นผลที่เกิดเนื่องมาจาก มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย ในขณะที่ระบบประสาทรับการสัมผัสจากสิ่งเร้า และสั่งการไปยังกล้ามเนื้อให้มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้าอย่างทันทีทันใด แล้วจึงเกิดอารมณ์ (Baron,1996:354) เช่น เรารู้สึกว่ามีสิ่งเปียกๆ เหนียวๆ หล่นใส่แขนเราสลัดทันที เมื่อเรารู้ภายหลังว่าสิ่งนั้น คือ อะไรเราจึงเกิดอารมณ์ต่างๆ ตามมา อาจกลัวถ้าเป็นงู อาจเกลียดถ้าเป็นตุ๊กแก อาจขยะแขยงถ้าเป็นน้ำมูก หือขบขันถ้าเป็นยางที่ทำเป็นรูปสัตว์เลื้อยคลานต่างๆ
ทฤษฎีของเคนนอน- บาร์ด (Cannon –Bard Thry) ผู้ตั้งทฤษฎีนี้คือ วอลเตอร์ บี แคนนอน (Walter B. Cannon) และ บาร์ด (Bard) ซึ่งเปฯศิษย์ของ แคนนอน เขาได้อธิบายการเกิดอารมณ์ว่า เมื่ออินทรีย์หรือร่างกายรับสัมผัสจากสิ่งเร้าภายนอกแล้ว จะรายงานมายังสมองส่วนกลาง (Thalamus) แล้วส่งต่อไปยังสมองส่วนกลางภายใน (Hypothalamus) ซึ่งเป็นแหล่งที่เกิดจากอารมณ์ จากนั้นเป็นการสั่งการให้กล้ามเนื้อตอบสนองต่อสิ่งเร้า ทฤษฎีนี้บางที่เรียกว่า Canon’s Thalamic Theory (Shaver,1993:152)
ทฤษฎีของชัคเตอร์ – ซิงเกอร์ (Schacter -Singer) บางทีเรียกว่า “ ทฤษฎีการที่แสดงถึงการรู้การเข้าใจ” (Cognitive Labeling Theory) ซึ่งเสนอโดย ชัชเตอร์ (Schachter) และ ซิงเกอร์ (Singer) เป็นทฤษฎีที่เน้นใน 2 องค์ประกอบที่สำคัญ (Baron,1996 : 355) คือ การรู้การเข้าใจและ สถานการณ์ในสังคม ที่มีบทบาทต่อการกำหนดสภาวะอารมณ์ คือ การที่บุคคลจะมีอารมณ์แบบใดขึ้นอยู่กับ การรู้และเข้าใจสิ่งแวดล้อมทางสังคม และการเลือกตอบสนองของบุคคล ทฤษฏีนี้มีการเปรียบเทียบมนุษย์เหมือนตู้เพลง การหยอดเหรียญลงไป เท่ากับเป็นการถูกกระตุ้นจากสิ่งเร้าภายนอก เข้าไปปลุกระบบที่ทำให้เกิดอารมณ์แต่จะเป็นเพลงแบบใดนั้นขึ้นอยู่กับผู้ที่เลือกเพลงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ทฤษฎีอารมณ์ตู้เพลง” (Jukebox Theory of Emotion)
หน้าที่ของอารมณ์
การที่มนุษย์มีอารมณ์ ต่างๆที่ทำให้ชีวิตไม่จืดชืด มีสีสันที่น่าสนใจขึ้น นักจิตวิทยาพยายามแสดงให้เห็นถึงหน้าที่สำคัญของอารมณ์ที่มีต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งมีดังนี้
(Schere, 1984 อ้างจาก Feldman, 1994:321-322)
1. เตรียมพร้อมในการกระทำต่างๆของเรา (Preparing) อารมณ์ ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างสถานการณ์จากสิ่งแวดล้อมภายนอก กับแสดงพฤติกรรมตอบสนองของบุคคล เชื่อ เห็น สุนัขคำรามและวิ่งเข้าใส่เรา การเกิดอารมณ์(กลัว) จะประสานกับการกระตุ้นระบบของร่างกายให้เกิดพฤติกรรมวิ่งหนีอย่างรวดเร็ว
2. ตกแต่งพฤติกรรมของเรา (Shaping) อารมณ์ทำหน้าที่ในการเรียนรู้ข้อมูลต่างๆ ที่จะช่วยกล่อมเกลาพฤติกรรมการตอบสนองของเราให้มีความเหมาะสม การแสดงพฤติกรรมของบุคคลในขณะที่อารมณ์ไม่ดี จะสอนให้บุคคลรู้ว่า ในคราวต่อไปควรจะแสดงออกเช่นไร จึงจะเหมาะสมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
3. ช่วยให้เรามีพฤติกรรมด้านสังคมที่เป็นระบบระเบียบขึ้น (Helping) ประสบการณ์ทางอารมณ์ ที่เราได้รับจากการพบปะกับบุคคลต่างๆ จะสังเกตได้จากการสื่อสารกันทั้งจากการพูดและจากการแสดวสีหน้า ท่าทาง ที่บุคคลแสดงโต้ตอบเราจะช่วยให้เราเข้าใจว่า ในคราวต่อไปเราควรแสดงพฤติกรรมการโต้ตอบทางังคมอย่างไร จึงจะดูดีและเป็นที่ยอมรับ
การพัฒนาความเฉลียวฉลาดทางอารมณ์
ซาโลเวย์ (Salovey, 1988 อ้างอิงจาก Goleman, 1995. 42-44) กล่าวถึงองค์ประกอบที่สำคัญของความเฉลียวฉลาดทางอารมณ์ไว้ ด้านได้แก่
1. การรู้จักอารมณ์ตนเอง (Know one’s emotion)
2. การจัดการ(บริหาร)อารมณ์ตนเอง(managing emotion)
3. การสร้างการจูงใจให้ตนเอง(motivating oneself)
4. การหยั่งรู้อารมณ์ของผู้อื่น(recognizing emotions in others)
5. การรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
ในการพัฒนาความเฉลียวฉลาดทางอารมณ์ จะต้องพัฒนาในแต่ละองค์ประกอบต่อไปนี้ (นันทนา วงษ์อินทร์, 2542:30-37 ) คือ
1. การรู้จักอารมณ์ของตนเอง (Know one’s emotion)
เป็นการรู้ว่าอารมณ์ของตนเป็นเช่นไรทั้งตามปกติและรู้ถึงลักษณะและการแสดงออกของอารมณ์ที่ไม่ปกติ (อารมณ์ชั่ววูบ) รวมถึงผลย้อนกลับของอารมณ์ต่างๆ ของตน
แนวทางในการพัฒนาการรู้จักอารมณ์ตนเอง ทำได้ดังนี้คือ
1. ให้เวลาแก่ตนเองในการทบทวนอารมณ์ของตน พิจารณาว่าเราเป็นคนที่มีลักษณะอารมณ์เช่นไร มักจะคล้อยตามอารมณ์ตนเอง คล้อยตามอารมณ์ผู้อื่น หรือคล้อยตามสิ่งแวดล้อมภายนอก
- ทบทวนลักษณะการแสดงอารมณ์-เราได้แสดงอาการใดออกไป
- ทบทวนผลย้อนกลับจากการแสดงอารมณ์ของเรา
- รู้สึกอย่างไรกับผลย้อนกลับ(พอใจ , ไม่พอใจ)
- คิดอย่างไรกับผลย้อนกลับ (เหมาะสม, ไม่เหมาะสม)
- ถ้ารู้สึกว่าไม่พอใจ คิดว่าไม่เหมาะสม หาวิธีการที่ดีกว่าสำหรับใช้ในคราวต่อไป
- ถ้ารู้สึกว่าพอใจ เหมาะสมแล้ว ต้องแน่ใจว่าไม่มีการเข้าข้างตัวเอง หรือหลอกตัวเองแล้วใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป
2. ฝึกการรู้ตัวบ่อยๆ มีสติกับการรู้ตัว
- ขณะนี้เรากำลังรู้สึกอย่างไรกับตัวเองหรือกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆตัวเรา
- รู้สึกสบายใจ, ไม่สบายใจ
- คิดอย่างไรกับความรู้สึกนั้น
- ความคิด/ความรู้สึกมีผลอย่างไร กับการแสดงออกของตนเอง
2. การจัดการ(บริหาร) อารมณ์ของตนเอง(managing emotions)
เป็นความสามารถในการควบคุมอารมณ์และแสดงออกได้อย่างเหมาะสม กับบุคคลสถานที่ เวลาและเหตุการณ์ ทั้งอารมณ์ดีและอารมณ์ไม่ดี ให้เกิดความสมดุล ในการจัดการกับ อารมณ์ของตนเองนี้จะทำได้ดีเพียงใดนั้นสืบเนื่องมาจากการรู้จักอารมณ์ของตนเอง
การฝึกการจัดการอารมณ์ของตนเอง
1. ทบทวนว่าอะไรบ้างที่เราทำลงไปเพื่อตอบสนองอารมณ์ที่เกิดขึ้น ดูด้วยว่าผลที่เกิดขึ้นตามมาเป็นเช่นไร
2. เตรียมการในการแสดงอารมณ์ ตั้งใจไว้เกี่ยวกับการแสดงอารมณ์ในคราวต่อไป ฝึกการสั่งตัวเองว่าทำอะไร จะไม่ทำอะไร
3. ฝึกการรับรู้สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว หรือที่เราต้องเกี่ยวข้อง ในด้านดี มอง-ฟัง สิ่งดี-สร้างอารมณ์แจ่มใสเกิดความสบายใจ
4. ฝึกการสร้างความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง/ผู้อื่น/สิ่งอื่นที่อยู่รอบตัว ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากข้อ 3 ทำให้เกิดความคิดที่ดี การกระทำที่ดี ทำให้เกิดผลย้อนกลับที่ดีต่อทั้งตนเองและผู้อื่น
5. ฝึกการมองหาประโยชน์/โอกาสจากอุปสรรค/ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยการเปลี่ยนมุมมอง -มองหาแง่ดี -โดยคิดว่าเป็นสิ่งท้าทาย ให้เราได้แสดงความสามารถ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นแล้วกับเรามีทางเลือกมากกว่า 1 ทาง จงเลือกทางที่เป็นประโยชน์ที่สุดหรือมีโทษน้อยที่สุด
6. ฝึกการผ่อนคลายความเครียดที่เกิดจากอาการไม่ดี โดยเลือกวิธีที่เหมาะกับตนเอง เพราะถ้ามีความเครียดมากๆ จะไม่มีพลังพอที่จะให้หลุดพ้นการครอบงำอารมณ์ เมื่อควบคุมอารมณ์ได้แล้วก็จะได้หาทางระบายอารมณ์ในทางที่เหมาะสมต่อไป
3. การสร้างแรงจูงใจให้ตนเอง (Motivating oneself)
เป็นการมองโลกในแง่ดีของสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตนเองและสร้างความเชื่อมั่นว่า เราสามารถอยู่กับสิ่งนั้นได้ เราสามารถทำได้ เราสามารถผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ทั้งนี้เพื่อให้เกิดกำลังใจที่จะสร้างสรรค์สิ่งดี มุ่งไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ ผู้ที่มีความสามารถและทักษะในด้านนี้ มีแนวโน้มว่าจะเป็นผู้ปฏิบัติงาน หรือสิ่งต่างๆที่ต้องทำในชีวิต ได้อย่างมีคุณค่า
แนวทางในการสร้างแรงจูงใจให้ตนเอง
วิธีการที่จะสร้างความเข้มแข็งของอารมณ์เพื่อเกิดความมุ่งมั่นที่จะกระตุ้นตัวเองให้มีการปฏิบัติไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ซึ่งอาจทำให้ได้ดังนี้
1. ทบทวนว่าสิ่งที่สำคัญในชีวิตของเรามีอะไรบ้าง ที่เราต้องการ อยากได้ อยากมี อยากเป็น จัดอันดับความสำคัญ แล้วพิจารณาว่าการจะบรรลุสิ่งที่ต้องการแต่ละสิ่งนั้น สิ่งใดที่มีทางเป็นไปได้ สิ่งใดเป็นไปไม่ได้ สิ่งใดจะเกิดประโยชน์ สิ่งใดจะเกิดโทษ
2. นำความต้องการในข้อ 1. ที่เป็นไปได้และเกิดประโยชน์มาตั้งเป็นเป้าหมายที่ชัดเจนให้แก่ตนเอง แล้ววางขั้นตอนที่จะมุ่งไปสู่เป้าหมายนั้น
3. ในการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ต้องระวังอย่าให้เหตุการณ์บางอย่างมาทำให้ไขว้เขวไปจนออกนอกทางที่จะบรรลุเป้าหมาย
4. ถ้าท่านเป็นบุคคลประเภท “สมบูรณ์แบบ” (Perfectionist) (คือทุกอย่างที่เกี่ยวกับท่านต้องดีที่สุด สมบูรณ์ที่สุด ผิดพลาดไม่ได้) ต้องพยายามลดความสมบูรณ์แบบลง ฝึกสร้างความยืดหยุ่นในอารมณ์ จะได้ไม่เครียด ผิดหวัง เสียกำลังใจหากเกิดสิ่งผิดพลาดบกพร่องขึ้น
5. ฝึกการมองหาประโยชน์จากอุปสรรค มองหาสิ่งดีจากสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นแล้ว (เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเปลี่ยนให้ไม่เกิดไม่ได้) เพื่อสร้างความรู้สึกดีๆที่จะเป็นพลังให้เกิดสิ่งดีอื่นๆต่อไป
6. ฝึกสร้างทัศนคติที่ดี (ใช้พื้นฐานจากข้อ 5) ทำความเข้าใจในเรื่องการมองโลกแง่ดี หามุมมองที่ดีในเรื่องที่เราไม่พอใจ มองปัญหาให้เป็นการเรียนรู้ การคิดในแง่ดีทำให้รู้สึกดี มีพฤติกรรมที่ดี เกิดความพึงพอใจ เป็นการเพิ่มพลัง-แรงจูงใจให้ตัวเอง
7. หมั่นสร้างความหมายในชีวิตให้แก่ตนเอง มองสิ่งดีในตนเอง นึกถึงสิ่งทีสร้างความภูมิใจแม้จะเป็นสิ่งเล็กๆน้อยๆ ในตัวเราและพยายามใช้สิ่งดีในตนสร้างให้เกิดคุณค่าแก่ทั้งตนเองและผู้อื่นอยู่เสมอ ก็จะยิ่งเพิ่มพูนความหมายในชีวิตมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเพิ่มแรงที่จะรู้สึก-คิด-และปฏิบัติสิ่งต่างๆ
8. ให้กำลังใจตัวเอง คิดอยู่เสมอ ว่าเราทำได้ –เราจะทำ-ลงมือทำ
4. การหยั่งรู้อารมณ์ผู้อื่น (Recognizing emotion in others)
เป็นความสามารถในการรับรู้อารมณ์–ความรู้สึกของผู้อื่น มีความเข้าใจ เห็นใจผู้อื่นสามารถปรับความสมดุลของอารมณ์ตนเอง ตอบสนองต่อผู้อื่นได้อย่างสอดคล้องกัน ความสามารถในด้านนี้เป็นทักษะทางสังคม ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการดำรงชีวิตอยู่ทั้งในครอบครัว ในงานอาชีพ
ในสังคมทั่วไป เพราะเราต้องพบปะมีสัมพันธภาพกับผู้คนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แนวทางการฝึกการหยั่งรู้อารมณ์ผู้อื่น
1. ให้ความสนใจการแสดงออกของผู้อื่น โดยการสังเกตสีหน้า, แววตา, ท่าทาง, การพูด,ถ้อยคำน้ำเสียง ตลอดจนการแสดงออกอื่นๆ ฝึกสังเกตบ่อยๆ จะเห็นอารมณ์ของเขาจากสิ่งต่างๆ เราสังเกตโดยเฉพาะสีหน้าแววตา จะสังเกตได้ง่ายกว่าจุดอื่น
2. อ่านอารมณ์ความรู้สึกของเขาจากสิ่งที่สังเกตเห็น ว่าเขากำลังมีอารมณ์ความรู้สึกใด อาจตรวจสอบโดยการถามความรู้สึกของเขา แต่การตรวจสอบต้องทำในสภาพเหมาะสม มิฉะนั้นอาจเป็นการทำลายความรู้สึกกันได้ ถ้าเราได้ฝึกการให้ความสนใจและการสังเกตบ่อยๆ จะมีความชำนาญในการรับรู้อารมณ์ความรู้สึกและการอ่านความรู้สึกของบุคคลมากขึ้น
3. ทำความเข้าใจอารมณ์ ความรู้สึกของบุคคลตามสภาพที่เขาเผชิญอยู่หรือที่เรียกกันทั่วไป คือ เอาใจเขามาใส่ใจเรา ถึงแม้จะไม่ถูกต้องทุกประการแต่ก็จะมีความคล้ายคลึงหรือใกล้เคียงบ้าง
4. แสดงการตอบสนองอารมณ์ ความรู้สึก ผู้อื่นที่เป็นการแสดงว่าเข้าใจ, เห็นใจกัน ทำให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกที่ดีต่อกัน
5. การรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน (Handling relationship)
เป็นความสามารถในการอยู่ร่วมกันและทำงานร่วมกับผู้อื่นโดยมีความสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน และสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์ ผู้ที่มีความสามารถและทักษะด้านนี้จะสามารถใช้ทั้งความคิด อารมณ์ และพฤติกรรม ในการอยู่ร่วมกันกับบุคคลต่างๆ ได้อย่างราบรื่น
แนวทางในการพัฒนาการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
1. การรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน จำเป็นต้องมีพื้นฐานมาจากการมองตนเองและผู้อื่นในแง่ดี สร้างอารมณ์ที่ดีต่อกัน การฝึกสร้างความรู้สึกที่ดีต่อผู้อื่น-เห็นใจผู้อื่นจะทำให้การเริ่มต้นของการมีสัมพันธ์ภาพที่ดีเกิดขึ้น
2. ฝึกการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ-สร้างความเข้าใจที่ตรงกัน ชัดเจน ฝึกการเป็นผู้ฟังและผู้พูดที่ดี ที่สำคัญต้องคำนึงถึงความรู้สึกของผู้รับการสื่อสารด้วย (สื่อสารกันด้วยหัวใจ)
3. ฝึกการแสดงน้ำใจ ความเอื้อเฟื้อรู้จักการให้-การรับ-การแลกเปลี่ยน ให้เกิดคุณค่า เกิดประโยชน์ สำหรับตัวเอง และสำหรับบุคคลที่เกี่ยวข้อง
4. ฝึกการให้เกียรติผู้อื่นอย่างจริงใจ- ให้การยอมรับ เพราะเป็นสิ่งที่จะทำให้ผู้รับมีความภาคภูมิ และความรู้สึกที่ดีตอบแทนมา
5. ฝึกการแสดงความชื่นชอบ ชื่นชม และให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ตามวาระที่เหมาะสม