13 กันยายน 2553

การจัดการความขัดแย้งและการทำงานเป็นทีม


การจัดการความขัดแย้งโดยใช้ภูมิปัญญาไทย
บทความโดย อ.ปรเมศร์ กลิ่นหอม


เมื่อคนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปมาอยู่รวมกันการเป็นกลุ่มก็ถูกจัดตั้งขึ้นโดยอัติโนมัติ ทั้งกลุ่มแบบทางการและไม่เป็นทางการ การอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างอันมาจากพื้นฐานทางสังคมวัฒนธรรมและการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกันจึงทำให้นำมาซึ่งความขัดแย้งได้ง่าย "ฉันเคยทำอย่างนี้" "แต่ฉันไม่เคยทำอย่างนี้" เพียงแค่สองประโยคนี้ อาจทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ทุกคนคาดไม่ถึง ดังนั้นการสร้างสรรค์พฤติกรรมที่เป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้ความขัดแย้งลดลงควรจะลงมือทำโดย (เรียม ศรีทอง,2542. น.307).
1.การเสริมกำลังใจ (Encouragement)ซึ่งแสดงออกจาก การให้ข้อมูลและความคิดเห็นอย่างนุ่มนวล สร้างสรรค์สิ่งใหม่และประสานเชื่อมโยงกับสิ่งที่มีอยู่เดิม
2.การเชื่อมสัมพันธ์ (Associated) ซึ่งแสดงออกจาก ประนีประนอม สร้างบรรยากาศอบอุ่น เป็นผู้รับฟัง เห็นด้วยและสนับสนุนตามความเป็นจริง
3.ลดลักษณะการทำลาย (Discoraging)ได้แก่ การก้าวร้าว ผูกขาด ขัดขวาง เฉยเมย และกีดกัน อันจะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกันได้ง่าย
จากพฤติกรรมที่ควรสร้างขึ้นในกลุ่มทั้ง 3 อย่างนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดงธรรมไว้สำหรับหมู่สงฆ์เพื่อให้เกิดความสามัคคี หลักปฏิบัตินั้นคือ "สารณียธรรม 6" ดังที่พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต,2546)ได้ระบุใว้ในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ว่า สารณียธรรม 6 (ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความให้ระลึกถึง, ธรรมเป็นเหตุที่ระลึกถึงกัน, หลักการอยู่ร่วมกัน — states of conciliation; virtues for fraternal living) สาราณียธรรม ก็ใช้
1. เมตตากายกรรม (ตั้งเมตตากายกรรมในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ ช่วยเหลือกิจธุระของผู้ร่วมคณะด้วยความเต็มใจ แสดงกิริยาอาการสุภาพ เคารพนับถือกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง — to be amiable in deed, openly and in private)
2. เมตตาวจีกรรม (ตั้งเมตตาวจีกรรมในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ ช่วยบอกแจ้งสิ่งที่เป็นประโยชน์ สั่งสอน แนะนำตักเตือนด้วยความหวังดี กล่าววาจาสุภาพ แสดงความเคารพนับถือกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง — to be amiable in word, openly and in private)
3. เมตตามโนกรรม (ตั้งเมตตามโนกรรม ในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือตั้งจิตปรารถนาดี คิดทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่กัน มองกันในแง่ดี มีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสต่อกัน — to be amiable in thought, openly and in private)
4. สาธารณโภคี (ได้ของสิ่งใดมาก็แบ่งปันกัน คือ เมื่อได้สิ่งใดมาโดยชอบธรรม แม้เป็นของเล็กน้อย ก็ไม่หวงไว้ผู้เดียว นำมาแบ่งปันเฉลี่ยเจือจาน ให้ได้มีส่วนร่วมใช้สอยบริโภคทั่วกัน — to share any lawful gains with virtuous fellows) ข้อนี้ ใช้ อัปปฏิวิภัตตโภคี ก็ได้
5. สีลสามัญญตา (มีศีลบริสุทธิ์เสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ มีความประพฤติสุจริตดีงาม ถูกต้องตามระเบียบวินัย ไม่ทำตนให้เป็นที่น่ารังเกียจของหมู่คณะ — to keep without blemish the rules of conduct along with one’s fellows, openly and in private)
6. ทิฏฐิสามัญญตา (มีทิฏฐิดีงามเสมอกันเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ มีความเห็นชอบร่วมกัน ในข้อที่เป็นหลักการสำคัญที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้น สิ้นทุกข์ หรือขจัดปัญหา — to be endowed with right views along with one’s fellows, openly and in private)
ธรรม 6 ประการนี้ มีคุณคือ เป็น สารณียะ (ทำให้เป็นที่ระลึกถึง — making others to keep one in mind) เป็น ปิยกรณ์ (ทำให้เป็นที่รัก — endearing) เป็น ครุกรณ์ (ทำให้เป็นที่เคารพ — bringing respect) เป็นไปเพื่อ ความสงเคราะห์ (ความกลมกลืนเข้าหากัน — conducing to sympathy or solidarity) เพื่อ ความไม่วิวาท (to non—quarrel) เพื่อ ความสามัคคี (to concord; harmony) และ เอกีภาพ (ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน — to unity)
จากหลักปฏิบัติดังกล่าวหากนำมาฝึกปฏิบัติเพื่อลดความขัดแย้งในกลุ่มแล้ว จำเป็นต้องมีหลักสำคัญในเบื้องต้นซึ่งจำเป็นต้องใช้อีกหลายด้าน คือ เมตตา ความเป็นมิตร ฯลฯ ทั้งนี้ทั้งนั้นความแตกต่างทางบุคลิกภาพของแต่ละคนก็อาจนำมาซึ่งความขัดแย้งได้ โดยพบจากการศึกษาคุณลักษณะ (trait)ของมนุษย์พบว่ามีทั้งหมด 1,800 แบบ ที่แตกต่างกันไป ดังนั้น การจะให้มนุษย์มาอยู่รวมกันทั้ง 1,800 คน ให้พูดจาเหมือนกัน หรือทำในแบบอย่างเดียวกันทุกกระเบียดนิ้วคงจะทำได้ยากยิ่ง สิ่งที่ง่ายที่สุดคือลงมือฝึกฝนตนเองให้ใกล้เคียงกับหลัก สารณียธรรม 6 มากที่สุด เมื่อได้ผลเช่นไรนำมาเล่าให้ฟังบ้าง บางที่อาจจะดีกว่าวิธีอื่นก็ได้นะครับ

อ้างอิง
พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต).(2546).พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. พิมพ์ครั้งที่ ๑๒. กรมการศาสนา : กรุงเทพมหานคร.
เรียม ศรีทอง. (2540). มนุษยสัมพันธ์. สถาบันราชภัฏสวนดุสิต : กรุงเทพมหานคร.
เรียม ศรีทอง. (2542). พฤติกรรมมนุษยกับการพัฒนาตน. เธิร์ดเวฟ เอ็ดดูเคชั่น : กรุงเทพมหานคร.
ป. มหาขันธ์. (2534). คู่มือการพัฒนาคน. โอ. เอส. พริ้นติ้ง เฮ้าส์ : กรุงเทพมหานคร.