27 พฤศจิกายน 2552

บทที่ 2 ปัจจัยพื้นฐานของพฤติกรรม


บทที่ 2
ปัจจัยพื้นฐานของพฤติกรรม

ปัจจัยพื้นฐานทางชีววิทยา
การศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ นักจิตวิทยาต้องศึกษาเพื่อทำความเข้าใจธรรมชาติ
ทางชีววิทยาควบคู่กันไปด้วย ทั้งนี้เพราะว่าพฤติกรรมของมนุษย์นั้นมีความสัมพันธ์กับระบบ
สรีรวิทยาโดยตรง ชีววิทยาและจิตวิทยาจึงเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์เหมือนกัน
สภาพทางชีววิทยาที่เป็นพื้นฐานของพฤติกรรมประกอบด้วยโครงสร้างของร่างกาย
ที่ทำหน้าที่แตกต่างกัน 3 อย่าง (Kendler 1974 : 39) ได้แก่
1.กลไกที่ทำหน้าที่รับสัมผัส เรียกว่า Receptors
2.กลไกที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อ เรียกว่า Nerve Cells
3.กลไกที่ทำหน้าที่ตอบโต้ เรียกว่า Effectors
กลไกการทำงานของโครงสร้างทั้ง 3 ส่วน จะมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกัน ดังที่อธิบายในภาพที่ 2-1
1.กลไกที่ทำหน้าที่รับสัมผัส (Receiving Mechanisms)
อวัยวะของร่างกายซึ่งทำหน้าที่รับสัมผัสจากสิ่งเร้า ได้แก่ อวัยวะสัมผัสทั้งหมด คือ หู ตา จมูก ลิ้น ผิวหนัง การทำหน้าที่ของอวัยวะสัมผัสทั้ง 5 ส่วน แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ
1.1อวัยวะสัมผัสเฉพาะด้าน ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น
1.2อวัยวะสัมผัสทั่วไป คือ การสัมผัสทางผิวหนัง ได้แก่ ความร้อนหนาว
ความเจ็บปวด หรือความรู้สึกต่าง ๆ จากการสัมผัส
2.กลไกที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อ (Connecting Mechanisms)
ระบบประสาท (Nervous System) เป็นอวัยวะของร่างกาย ซึ่งทำหน้าที่เชื่อมต่อประสานงานระหว่างอวัยวะสัมผัสไปสู่กลไกที่ทำหน้าที่ตอบโต้ระบบประสาทมีความสำคัญมาก
ต่อการเรียนรู้ และการตอบโต้พฤติกรรม ส่วนประกอบของระบบประสาท แบ่งเป็น 2 ระบบ คือ
2.1ระบบประสาทส่วนกลาง (C.N.S. = Central Nervous System) ซึ่งระบบประสาทส่วนกลางแยกเป็น 2 ส่วน
1)สมอง (Brain) สมองของมนุษย์แบ่งเป็นสมองส่วนใหญ่ ซึ่งจะทำหน้าที่
ควบคุม การคิด การพูด การกระทำ เป็นต้น และสมองส่วนเล็ก ซึ่งจะทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ
2)ไขสันหลัง (Spinal Cord) ทำหน้าที่รับส่งความรู้สึกผ่านไปยังสมอง นอกจากนี้แล้วประสาทไขสันหลังยังเป็นศูนย์กลางของปฏิกริยาสะท้อนอีกด้วย
2.2ระบบประสาทส่วนนอก (P.N.S. + Peripheral Nervous System) แบ่งออกเป็น
2 ส่วน
1)เซลล์ประสาท (Nerve Cells) ประกอบด้วยตัวเซลล์แอกซอน (Axon) และเด็นไดร์ท (Dendrite)
2)เส้นประสาท (Motor Nerve Fibers) คือ เส้นใยประสาททั่วไปของคน ระบบสมองและประสาทซึ่งเป็นส่วนทำหน้าที่เชื่อมต่อนั้น ถือว่าเป็นศูนย์รวมของอินทรีย์ ถ้าหากส่วนนั้นบกพร่องหรือพิการ ก็จะทำให้เกิดความบกพร่องในพฤติกรรมต่าง ๆ ด้วย นักเรียนบางคนที่สมองพิการด้วยสาเหตุต่าง ๆ ก็ย่อมเกิดความบกพร่องในการรับรู้และการเรียนรู้ เด็กบางคนไม่ถึงกับสมองพิการ แต่สมรรถภาพทางสมองด้อยกว่าเด็กคนอื่น ๆ พฤติกรรมการเรียน เช่น ความเข้าใจ ความจำ การคิด การพูด หรือการกระทำ ก็ย่อมหย่อนสมรรถภาพกว่าเด็กทั่ว ๆ ไป ซึ่งเด็กคนใดจะมีปัญหาทางสมองหรือไม่อย่างใดนั้น ถ้าหากครูผู้สอนให้ความสังเกตอย่างทั่วถึง ตรวจสอบพฤติกรรมการเรียนอย่างสม่ำเสมอ ก็พอที่จะจำแนกได้
3.กลไกที่ทำหน้าที่ตอบโต้ (Reacting Mechanism)
3.1ระบบกล้ามเนื้อ (Muscle) ระบบกล้ามเนื้อถือเป็นหน่วยปฏิบัติการตามคำสั่งของสมอง ทำให้เกิดพฤติกรรมหรือกิริยาอาการต่าง ๆ กล้ามเนื้อประกอบด้วยเซลล์กล้ามเนื้อและเส้นใยที่ละเอียด ซึ่งจำแนกชนิดของกล้ามเนื้อตามการทำหน้าที่ได้ 3 ชนิด คือ
1)กล้ามเนื้อลาย ประกอบด้วยเส้นใยกล้ามเนื้อเล็ก ๆ ที่มีลักษณะเป็นเส้นลาย ๆ ได้แก่ กล้ามเนื้อแขน ขา สะโพก เป็นต้น
2)กล้ามเนื้อเรียบ ส่วนมากเป็นกล้ามเนื้อของระบบภายใน เช่น หลอดลม
หลอดอาหาร ลำไส้ มดลูก กระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น การทำงานของกล้ามเนื้อเรียบจะอยู่ภายใต้การควบคุมของระบบประสาทอัตโนมัติ
3)กล้ามเนื้อหัวใจ เป็นกล้ามเนื้อที่มีลักษณะพิเศษ อยู่ภายใต้การควบคุมของระบบประสาทอัตโนมัติ โดยทั่วไปแล้ว พฤติกรรมของกล้ามเนื้อลายนั้น มักจะเป็นพฤติกรรมภายนอก เช่น การเดิน การวิ่ง การทำงาน เป็นต้น ส่วนพฤติกรรมของกล้ามเนื้อเรียบและกล้ามเนื้อหัวใจจะเป็นพฤติกรรมภายใน เช่น การย่อยอาหาร การขับถ่าย เป็นต้น
3.2ระบบต่อม (Glands) ต่อเป็นระบบสรีรวิทยาส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการแสดงพฤติกรรม ต่อมประกอบด้วยเซลล์พิเศษที่สามารถสร้างสารเหลวที่มีคุณสมบัติทางเคมี เพื่อรักษาสภาวะสมดุลของร่างกาย นักจิตวิทยาชอบใช้การหลั่งสารเหลวของต่อมต่าง ๆ เป็นตัวแปรตาม (Dependent Variable) ในการทดลองทางจิตวิทยา ต่อมในร่างกายของมนุษย์แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
1)ต่อมมีท่อ (Duct Glands) หมายถึง ต่อมที่หลั่งสารเหลวออกมาแล้วมีท่อเล็ก ๆ ลำเลียงสารเหลวนั้นออกสู่ภายนอกได้ เช่น ต่อมน้ำตา ต่อมเหงื่อ ต่อมไขมัน ต่อมน้ำลาย เป็นต้น
2)ต่อมไม่มีท่อ (Ductless Glands) คือ ต่อมที่ผลิตสารเหลวซึ่งมีคุณสมบัติ
ทางเคมีที่เรียกว่า “ฮอร์โมน” (Hormone) ไหลเข้าสู่กระแสโลหิตแล้วกระจายออกไปสู่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายโดยไม่อาศัยท่อ
ต่อมไม่มีท่อมีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย และมีผลต่อพฤติกรรม ตลอดจนบุคลิกภาพของบุคคล ถ้าหากปริมาณการหลั่งฮอร์โมนจากต่อมต่าง ๆ ผิดปกติ ซึ่งอาจจะมากหรือน้อยกว่าปกติ ก็จะทำให้การเจริญเติบโตของร่างกายผิดปกติจนทำให้พฤติกรรมต่าง ๆ แปรปรวนไปด้วย
ฮอร์โมนจากต่อมไร้ท่อนอกจากมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมโดยตรงแล้ว ยังมีผลต่อร่างกายและจิตใจของบุคคลด้วย เช่น ผู้ชายบางคนที่มีฮอร์โมนเพศหญิงในตัวมากกว่าฮอร์โมนชาย ก็จะมีผลทำให้หน้าอกขยายเหมือนผู้หญิง สภาพจิตใจก็เหมือนผู้หญิง กิริยาท่าทาง การพูด การเดิน หรืออิริยาบถต่าง ๆ ก็จะแสดงออกเสมือนกับว่าตนเองเป็นผู้หญิง บางคนอาจถึงกับตัดสินใจผ่าตัดเพื่อแปลงเพศ โดยตัดอวัยวะเพศชายทิ้งก็มีให้เห็นเป็นข่าวอยู่เสมอ ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของฮอร์โมนต่อร่างกายและจิตใจของบุคคล
ต่อมไร้ท่อสามารถจำแนกเป็นชนิดต่าง ๆ ได้ 8 ชนิด และกระจายอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
(1)ต่อมใต้สมอง (Pituitary Gland) มีขนาดเท่าเม็ดถั่วอยู่ตอนล่าง
ของสมอง เป็นต่อมที่มีความสำคัญที่สุด เพราะจะสร้างฮอร์โมนเพื่อควบคุมการสร้างฮอร์โมนของต่อมไร้ท่ออื่น ๆ ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง มี 2 ประเภท คือ
ก.GH (Growth Hormone) คือ ฮอร์โมนที่ควบคุมการเจริญเติบโต ของร่างกาย ในแต่ละวัยให้เป็นไปสอดคล้องกับธรรมชาติ แต่ถ้าหากระดับของ GH ในแต่ละวัย
ผิดปกติ ก็จะทำให้เกิดความผิดปกติกับลักษณะของร่างกาย เช่น ถ้าปริมาณของ GH มากเกินไป
ในวัยเด็กก็จะทำให้ร่างกายเจริญเติบโต สูงใหญ่กว่าปกติ แต่ถ้าหากระดับของ GH น้อยเกินไป
ในวัยเด็กก็จะทำให้ร่างกายไม่เจริญเติบโต เตี้ยแคระ
ข.ฮอร์โมนที่ควบคุมและกระตุ้นการผลิตฮอร์โมนของต่อมไร้ท่ออื่นๆ ซึ่งได้แก่ TSH (Thyroid Stimulating Hormone) ซึ่งทำหน้าที่กระตุ้นต่อมไทรอยด์ให้หลั่งฮอร์โมนเป็นปกติ FSH (Follicular Stimulating Hormone) และ LH (Lutenizing Hormone) ทำหน้าที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของรังไข่และการตกไข่ของรังไข่ ACTH (Adrenocorticotrophic Hormone)
ทำหน้าที่ควบคุมต่อมอาดรีนอล (Adrenal)
(2)ต่อมไทรอยด์ (Thyroid Gland) อยู่ตรงลำคอ ข้าง ๆ กล่องเสียง ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนเชื่อ “ไทรอกซิน” (Thyroxin) เพื่อควบคุมการเผาผลาญอาหาร การเจริญเติบโตของกระดูกและระดับแคลเซียมในเม็ดเลือด ถ้าหากเกิดความผิดปกติของระดับฮอร์โมนนี้ตั้งแต่
วัยเด็ก จะทำให้เกิดโรคเตี้ยแคระและปัญญาอ่อน
(3)ต่อมพาราไทรอยด์ (Parathyroid Gland) ต่อมชนิดนี้เป็นต่อมเล็ก ๆ อยู่ติดกับต่อมไทรอยด์ ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนชื่อ “พาราทอร์โมน” เพื่อควบคุมสภาวะสมดุลของแคลเซียมและฟอสฟอรัสในกระแสเลือด
(4)ต่อมแพนครีส (Pancreas Gland) หรือเรียกว่า ต่อมตับอ่อน อยู่บริเวณช่องท้องติดกับกระเพาะอาหาร ผลิตฮอร์โมน “อินซูลิน” (Insulin) เพื่อทำหน้าที่ควบคุมกระบวนการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรท และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ บุคคลที่เป็น
โรคเบาหวานเกิดจากร่างกายขาดอินซูลิน จึงทำให้มีน้ำตาลในเลือดสูง
(5)ต่อมอาดรีนอล (Adrenal Gland) หรือต่อมหมวกไต อยู่บริเวณตอนบนของไต ฮอร์โมนจากต่อมนี้มีหลายชนิด แต่ที่สำคัญคือ “อาดรีนาลิน” (Adrenalin) ทำหน้าที่ควบคุมการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต กระบวนการเผาผลาญอาหารของร่างกาย เมื่อร่างกายอยู่ในสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ที่รุนแรง เช่น ตึงเครียด โกรธ กลัว ต่อมอาดรีนอลจะหลั่งฮอร์โมนอาดรีนาลินเพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลทำให้ร่างกายสามารถเผชิญเหตุการณ์เฉพาะหน้าและทำให้มีพลังมากขึ้น หลอดเลือดขยายตัว สามารถนำเลือดไปสู่อวัยวะต่าง ๆ ได้มากขึ้น
(6)ต่อมโกแนด (Gonad Gland) ซึ่งก็คือต่อมเพศสำหรับเพศชาย คือ
“ลูกอัณฑะ” (Testis) ซึ่งจะหลั่งฮอร์โมนชื่อแอนโดรเจน (Asdrogen) ส่วนในเพศหญิง คือ “รังไข่” (Ovaries) ฮอร์โมนที่ผลิตจากรังไข่คือ เอสโตรเจน (Estrogen) ฮอร์โมนจากต่อมเพศจะกระตุ้นให้อวัยวะเพศเจริญเติบโตจนสามารถสร้างเซลล์เพศได้ นอกจากนี้แล้ว ยังกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาของลักษณะเพศขั้นทุติยภูมิ (Secondary Sex Characteristic) ได้แก่ หนวดเครา เสียงห้าว สำหรับเพศชาย หน้าอก สะโพกขยาย สำหรับเพศหญิง เป็นต้น
(7)ต่อมไทมัส (Thymus Gland) ต่อมนี้อยู่ในบริเวณขั้วหัวใจ ในช่วงวัยเด็กมีขนาดโต แต่ขนาดจะค่อย ๆ เล็กลงเมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่น แล้วหดหายไปในวัยผู้ใหญ่ ส่วนหน้าที่
ที่แน่นอนของต่อมนี้ยังไม่เป็นที่ชัดเจน
(8)ต่อมไพเนียล (Pineal Gland) ต่อนี้อยู่เหนือสมองส่วนกลาง ผลิตฮอร์โมนชื่อ “เมลาโทนิน” (Melatonin) ซึ่งฮอร์โมนชนิดนี้จะมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมทางเพศของมนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหลาย จึงเห็นได้ว่า ระบบการทำงานของต่อมไร้ท่อเป็นระบบที่สลับซับซ้อน ซึ่งมีผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน พฤติกรรมของบุคคลที่แสดงออกในสถานการณ์ต่าง ๆ ย่อมได้รับอิทธิพลจากต่อมไร้ท่อด้วย ฉะนั้น นักจิตวิทยาจึงถือว่า ระบบต่อเป็นระบบหนึ่งที่มีความสำคัญต่อสภาพทางจิตใจ ร่างกาย และต่อพฤติกรรมของมนุษย์อย่างมาก
จากธรรมชาติพื้นฐานทางชีววิทยาที่กล่าวมานั้น คงทำให้เราเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติทางชีววิทยากับพฤติกรรมของบุคคลได้ชัดเจนยิ่งขึ้น สามารถวิเคราะห์ตนเองและผู้อื่นเพื่อตรวจสอบพฤติกรรมของตนเองและผู้อื่นว่ามีความผิดปกติหรือไม่อย่างไร หรือเมื่อพบว่าผิดปกติก็จะสามารถสืบค้นไปถึงปัจจัยทางชีววิทยาบางประการที่มีความเกี่ยวข้องกัน เพื่อที่จะได้หาทางแก้ไขหรือให้ข้อมูลแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อจะได้ร่วมมือแก้ไขหรือช่วยเหลือบุคคลนั้น
ได้ตรงประเด็น
ปัจจัยพื้นฐานทางสังคมวิทยา
นักจิตวิทยาและนักสังคมวิทยาถือว่าการเป็นคนโดยสมบูรณ์ขึ้นอยู่กับการได้มีโอกาสติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่น การติดต่อสื่อสารสัมพันธ์กับคนอื่นของมนุษย์มีมาตั้งแต่แรกเกิด เริ่มต้นจาก พ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง และคนอื่น ๆ ในสังคม ดังนั้น พฤติกรรมของบุคคลจึงถูกกำหนดจากพื้นฐานทางครอบครัว แล้วค่อย ๆ แปรเปลี่ยนไปในทิศทางตามที่สังคมต้องการ ทั้งนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของตนเองให้มากที่สุด ประสบการณ์ต่าง ๆ ทางสังคมจึงเป็นสิ่งกำหนดพฤติกรรมและบุคลิกภาพของบุคคลโครงสร้างทางสังคมและประสบการณ์ทางสังคมที่แตกต่างกันย่อมทำให้บุคคลมีลักษณะบุคลิกภาพและพฤติกรรมแตกต่างกัน เช่น คนไทยจะมีลักษณะพฤติกรรม และบุคลิกภาพแตกต่างไปจากคนในสังคมตะวันตกโดยสิ้นเชิง หรือเด็กในสังคมเดียวกันที่ถูกพ่อแม่ กักขัง ทำโทษดุด่าว่ากล่าวเสมอ ๆ ย่อมมีบุคลิกภาพแตกต่างไปจากเด็ก ๆ ที่พ่อแม่เลี้ยงดู ด้วยความรัก และความอบอุ่น
ในการอยู่ร่วมกับสังคมนั้น ทุกคนต้องมีความตระหนักถึงธรรมชาติพื้นฐานทางสังคมวิทยาที่ว่า “มนุษย์เป็นสัตว์สังคม” ดังนั้น กระบวนการอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่หรือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ ต้องมุ่งฝึกฝนให้นักเรียนเรียนรู้การที่อยู่ร่วมกับผู้อื่นและทำงานร่วมกับผู้อื่นในสังคม เช่น ให้ทำกิจกรรมกลุ่ม การให้ความร่วมมือกับกลุ่ม การยอมรับนับถือผู้อื่น การเป็นผู้นำและผู้ตาม ตลอดจนลักษณะนิสัยและมารยาททางสังคมทั่ว ๆ ไป ต้องจัดให้เด็กเรียนรู้ควบคู่กันไปด้วย บุคคลบางคนอาจจะปรับตัวเข้ากับเพื่อน ๆ ได้ยาก พูดน้อย เก็บความรู้สึกหรือปลีกตัวหนีสังคม ขณะที่บางคนชอบพูดคุยเสียงดังสนุกสนานเฮฮา นิสัยทางสังคมดังกล่าวล้วนแต่มีความสัมพันธ์กับประสบการณ์พื้นฐานทางสังคมจากครอบครัวทั้งสิ้น บุคคลที่มีประสบการณ์พื้นฐานในวัยเด็กดี ก็จะมีบุคลิกภาพและนิสัยทางสังคมดี มองโลกในแง่ดี มีความเป็นมิตร เห็นคุณค่าของคนอื่น และพร้อมที่จะเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม แต่เด็กที่มีพื้นฐานครอบครัวไม่ดี ถูกทอดทิ้ง เช่น เด็ก ๆ ตามสถานสงเคราะห์ทั่วไป ก็มักจะมองโลกในแง่ร้าย ไม่มีความเป็นมิตร หวาดระแวงผู้อื่น อาจมีความรู้สึกอิจฉาริษยา เคียดแค้น ชิงชังผู้อื่น ซึ่งนับว่าเป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวทางสังคม
พฤติกรรมทางสังคมและลักษณะนิสัยทางสังคมของบุคคลแต่ละคนย่อมแตกต่างกันไป ใครที่รู้ตัวว่ามีลักษณะนิสัยที่ไม่ดีไม่เหมาะสม จึงต้องคอยกำชับดูแลและหาทางปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและนิสัยนั้น ๆ ให้ได้ เพราะถ้าขืนปล่อยไว้ให้ยาวนานต่อไปอาจจะกลายไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีลักษณะนิสัยทางสังคมที่ไม่ดี จนอาจสร้างปัญหาให้กับตนเองหรือสังคมในอนาคต
มีความเชื่อเบื้องต้นหลายประการเกี่ยวกับมนุษย์กับสังคมที่ถกเถียงกันมานานแล้ว ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีข้อสรุปโดยสมบูรณ์ เช่น โดยสัญชาตญาณแล้วมนุษย์เป็นสัตว์สังคม จริงหรือ ความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดากับบุตรเกิดจากสัญชาตญาณหรือการเรียนรู้กันแน่ มนุษย์เกิดมามีสัญชาตญาณเห็นแก่ตัวจริงหรือ เพื่อความเข้าใจชัดเจนในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับความเชื่อเบื้องต้นและพฤติกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นพฤติกรรมทางสังคม จึงควรทำความเข้าใจแนวความคิดพื้นฐานที่อธิบายพฤติกรรมของมนุษย์กับสังคมที่น่าสนใจ คือ
1.ทฤษฎีมนุษย์กับสังคมของโธมัส ฮอบส์
โธมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes, 1588 - 1679) เป็นนักปรัชญาชาวอังกฤษ ได้เสนอทฤษฎีเพื่ออธิบายพฤติกรรมของมนุษย์กับสังคม โดยมีความเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อผลประโยชน์ของตนเองทั้งสิ้น การรวมตัวกันทางสังคม การสร้างกฎเกณฑ์และกฎหมายบ้านเมืองที่ควบคุมและชี้นำพฤติกรรมของคนในสังคมก็เพื่อตอบสนองความต้องการของแต่ละบุคคลทั้งสิ้น
หากจะถามฮอบส์ว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ทำไมมนุษย์จึงช่วยเหลือกันและกัน เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ฮอบส์ก็จะตอบว่าถ้าหากพิจารณาให้ลึกซึ้งแล้ว การช่วยเหลือคนอื่นก็เป็นการช่วยเหลือตนเองทางอ้อม การช่วยเหลือคนอื่นเป็นเพียงการลงทุน เพื่อให้คนอื่นช่วยเหลือตนเอง ไม่โดยคนนี้ก็โดยคนอื่น ไม่ในโอกาสนี้ก็ในโอกาสต่อไป (สุจิต บุญบงการ 2521 : 33) ดังนั้น
แนวทัศนะของฮอบส์จึงจัดอยู่ในกลุ่มแนวความเชื่อว่า “มนุษย์มีความเห็นแก่ตัว”
2.ทฤษฎีมุ่งสัมพันธ์ (Theories of Affiliation)
ทฤษฎีนี้อธิบายให้เห็นว่าความสัมพันธ์หรือความผูกพันกันระหว่างบุคคลเป็นธรรมชาติทางสังคมอย่างหนึ่งของมนุษย์ ความสัมพันธ์ระหว่างมารดากับทารกเป็นจุดเริ่มต้นของพฤติกรรมมุ่งสัมพันธ์ของมนุษย์ แต่พฤติกรรมมุ่งสัมพันธ์ในวัยผู้ใหญ่มีองค์ประกอบที่ซับซ้อนมากกว่าในวันเด็ก นักจิตวิทยาบางคนได้อธิบายให้เห็นว่าพฤติกรรมมุ่งสัมพันธ์เป็นสัญชาตญาณอย่างหนึ่งของมนุษย์
วิลเลียม แมกดูแกล (William McDougall) เชื่อว่าการอยู่ร่วมกันและมีความสัมพันธ์กันเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ เหมือนกับนกสร้างรัง ซึ่งพฤติกรรมนี้เป็นธรรมชาติเหมือนกับทารกดูดนมมารดา มิใช่ทำไปเพราะคำนึงถึงผลประโยชน์ มนุษย์เกิดมาพร้อมกับคุณลักษณะหลายประการซึ่งกำหนดโดยองค์ประกอบทางพันธุกรรม และเป็นที่เข้าใจว่าคุณลักษณะอย่างหนึ่งนั้นคือ แนวโน้มอยากมีเพื่อนหรืออยู่ร่วมกันเพื่อนมนุษย์ ถ้าหากแนวคิดนี้เป็นจริงเราก็พอจะคาดคะเนได้ว่าเด็กที่ถูกแยกไปเลี้ยงไว้ต่างหากโดยขาดการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อม มีแนวโน้มที่จะแสดงพฤติกรรมมุ่งสัมพันธ์ทันทีที่เด็กมีโอกาส โดยไม่จำเป็นว่า จะมีประสบการณ์ในการอยู่ร่วมกับคนอื่นมาก่อนหรือไม่
มีการทดลองของนักจิตวิทยาที่น่าสนใจเพื่อศึกษา อิทธิพลของการตอบสนองความต้องการ กับความอบอุ่นจากการสัมผัสของแม่ สิ่งไหนจะมีอิทธิพลต่อความรัก ความสัมพันธ์มากกว่ากัน ซึ่งฮาร์โลว์ (Harlow, 1958) ได้ทดลองโดยใช้ลูกลิงเป็นตัวทดลอง ฮาร์โลว์ได้สร้างแม่ลิงเทียม 2 ตัว ตัวหนึ่งทำด้วยโครงลวดแต่มีขวดให้นมแก่ลูกลิงได้ ส่วนแม่อีกตัวหนึ่งห่อหุ้มด้วยผ้าขนหนูให้ความอบอุ่นแก่ลูกลิงได้แต่ไม่มีนมให้ลูกลิง เขาปล่อยให้ลูกลิงอยู่กับแม่ทั้ง 2 ตัวในกรงเดียวกัน แล้วคอยสังเกตดูพฤติกรรมของลูกลิงว่าจะใช้เวลาคลุกคลีอยู่กับแม่ตัวไหนมากที่สุด โดยทฤษฎีการเรียนรู้แล้วน่าจะทำนายพฤติกรรมของลูกลิงได้ว่า ลูกลิงน่าจะคลุกคลีอยู่กับแม่ที่ทำด้วยลวดมากกว่า เพราะสามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐาน คือความหิวได้ เป็นการเรียนรู้โดยการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างแม่ที่ทำด้วยโครงลวดกับความพอใจจากการลดแรงขับพื้นฐาน แต่ผลจากการศึกษากลับปรากฎว่า ในช่วง 165 วัน ลูกลิงจะใช้เวลาส่วนมากคลุกคลีอยู่กับแม่ที่ทำด้วยผ้าขนหนูมากกว่า ลูกลิงจะใช้เวลาอยู่กับแม่โครงลวดเฉพาะเวลาดื่มนมเท่านั้น แม้ในเวลาที่ตกใจกลัวลูกลิงก็จะวิ่งไปกอดรัดแม่ที่ทำด้วยผ้าขนหนู นั่นแสดงว่าความต้องการสัมผัสน่าจะกระตุ้นการตอบสนองมุ่งสัมพันธ์ได้มากกว่าความต้องการลดความหิว แต่อย่างไรก็ตาม ผลการทดลองของ Harlow ก็ไม่ได้อธิบายว่าสำหรับมนุษย์แล้ว ความผูกพันธ์ทางสังคมเรียนรู้ได้อย่างไร การคลุกคลีกับแม่ที่ทำด้วยผ้าขนหนูของลูกลิง เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความผูกพัน หรือเป็นเพียงแรงขับที่ต้องการสัมผัสที่อบอุ่นก็ยังเป็นที่ถกเถียงวิจารณ์กันอยู่ จากการทดลองของฮาร์โลว์นั้น สิ่งที่ทุกคนควรตระหนักและให้ความสนใจก็คือ เราจะสร้างความผูกพันธ์หรือสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างไร จะทำอย่างไรจึงจะทำให้ผู้อื่นอยาก เข้าหา ใกล้ชิด หรือมีความสัมพันธ์ที่ดีกับตัวเรา จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุก ๆ คนควรเสริมสร้างบุคลิกภาพที่ดีให้กับตัวเอง ถ้าเราเป็นที่มีจิตใจที่ดีงาม มีความรัก ความปรารถนาดี เป็นกันเอง ยิ้มแย้มแจ่มใส มีความเป็นมิตร ก็ย่อมทำให้ผู้ที่พบเห็นอยากมีความใกล้ชิดผูกพันด้วย เพราะอยู่ใกล้แล้วสบายใจมีความสุข แต่ถ้าในทางตรงกันข้าม เราเป็นคนที่มีบุคลิกภาพที่ไม่ดี เคร่งเครียด พูดจาไม่เพราะ มองโลกในแง่ร้าย หวาดระแวง จับผิดคิดร้ายผู้อื่น ก็จะทำให้ไม่มีใครอยากคบหาสมาคมด้วย
3.วัฒนธรรมกับพฤติกรรม
เนื่องจากว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม ดังนั้นพฤติกรรมของมนุษย์ย่อมมีสาเหตุมาจากสภาพแวดล้อมทางสังคม และพฤติกรรมของแต่ละคนในสังคมย่อมมีผลกระทบต่อบุคคลอื่นในสังคมด้วย การศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์จึงน่าจะต้องทำความเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน และองค์ประกอบทางสังคมที่เป็นตัวกำหนดขอบเขตของพฤติกรรมมนุษย์ในสังคม ก็คือวัฒนธรรมและกระบวนการสังคมประกิต
3.1วัฒนธรรม (Culture) คือ ผลิตผลที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ในสังคม ผลิตผลดังกล่าวอาจเป็นวัตถุสิ่งของ พฤติกรรม หรือแนวความคิดก็ได้ บางครั้งวัตถุสิ่งของ พฤติกรรมหรือแนวคิดเหล่านั้นอาจถูกเรียกรวม ๆ กันว่าระบบ ฉะนั้น วัฒนธรรม
ก็คือระบบในสังคมมนุษย์ที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่ใช่ระบบที่เกิดขึ้นตามสัญชาตญาณ (สุจิต บุญบงการ 2521 : 74)
เมื่อมนุษย์อยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม ถ้าต่างคนต่างยึดถือระบบของตน ย่อมก่อให้เกิดความวุ่นวาย มนุษย์ที่อยู่ในสังคมเดียวกันจึงทำความตกลงกันว่าจะยึดระบบไหนดี พฤติกรรมใดบ้างที่ควรปฏิบัติและมีความหมายอย่างไร ข้อตกลงต่าง ๆ ดังกล่าวก็จะกลายเป็นแบบแผนแห่งพฤติกรรมและการแปลความหมายให้กับสิ่งต่าง ๆ ในสังคม เพื่อว่าคนในสังคมจะได้เข้าใจตรงกันและยึดระบบเดียวกัน ระบบที่ถูกกำหนดและยอมรับร่วมกันของแต่ละสังคมก็คือวัฒนธรรมของสังคมนั่นเอง
ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่จำเป็นของสังคมมนุษย์ เป็นสิ่งที่มีบทบาทต่อการปลูกฝังเจตคติ ค่านิยม ความเชื่อและความรู้ต่าง ๆ อันเป็นองค์ประกอบทางบุคลิกภาพ
ของบุคคล ดังจะเห็นได้จากคนไทยเราซึ่งจะมีค่านิยม ความเชื่อและบุคลิกภาพแตกต่างไปจากชาวตะวันตก เช่นค่านิยมในการเลี้ยงดูบุตร สังคมไทยมีค่านิยมเลี้ยงดูในลักษณะให้พึ่งพาบิดามารดาหรือสังคม เด็กจะต้องเชื่อฟังอยู่ในโอวาท เป็นคนว่านอนสอนง่าย แต่ในสังคมตะวันตกจะมีค่านิยมในลักษณะให้เด็กเป็นตัวของตัวเอง มีอิสระ พ่อแม่ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวควบคุม ที่เป็นเช่นนี้เพราะระบบวัฒนธรรมของสังคมไทยแตกต่างไปจากลักษณะวัฒนธรรมของชาวตะวันตกนั่นเอง
ในชั้นเรียนครูผู้สอนอาจร่วมกับนักเรียนกำหนดระบบหรือกฎเกณฑ์บางประการขึ้นมาเพื่อเป็นสิ่งควบคุมพฤติกรรมของนักเรียนในชั้น ซึ่งอาจเป็นพฤติกรรมการเรียน เช่น การ
ทำการบ้าน การส่งแบบฝึกหัด การวัดผลประเมินผลการเรียน หรืออาจจะเป็นกฎเกณฑ์เพื่อควบคุมวินัย และความประพฤติทั่วไปของนักเรียน รวมทั้งการแต่งกายต่าง ๆ ด้วย ข้อตกลงที่กำหนดขึ้นมา
ดังกล่าวนี้ถือเป็นเงื่อนไขของสังคมเสมือนหนึ่งวัฒนธรรมของกลุ่ม ซึ่งสมาชิกทุกคนต้องประพฤติ ปฎิบัติตาม การมีกฎเกณฑ์และวัฒนธรรมนี้เองทำให้มนุษย์มีความแตกต่างจากบรรดาสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย ทำให้รู้จักควบคุมพฤติกรรมของตน รู้ว่าควรแสดงพฤติกรรมใดในสถานการณ์เช่นใด พฤติกรรมชนิดใดสังคมไม่ยอมรับควรหลีกเลี่ยง
3.2 กระบวนการสังคมประกิต (Socialization) เป็นกระบวนการจัดการศึกษาอบรมให้กับคนที่จะมาเป็นสมาชิกใหม่ของสังคม เพื่อช่วยเตรียมให้สมาชิกใหม่นั้นสามารถมีชีวิตอยู่มีชีวิตอยู่ร่วมกับสังคมได้ ให้เรียนรู้แบบแผนความประพฤติ ความเชื่อ บรรทัดฐานของสังคม เช่น บิดามารดาสอนให้บุตรของตนเรียนรู้การกิน การอยู่ การพูด มารยาทและการปฏิบัติตนตาม
ขนบธรรมเนียมประเพณีของสังคม การให้การศึกษาอบรมดังกล่าวนี้เรียกว่า “กระบวนการสังคมประกิต”
กระบวนการสังคมประกิตเป็นการศึกษาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาและตลอดช่วงชีวิตของบุคคล โดยผ่านสถาบันทางสังคมหลายสถาบันร่วมกัน ได้แก่ ครอบครัว สถาบันศาสนา สถานศึกษา และสื่อมวลชนต่าง ๆ ส่วนวิธีการศึกษาอบรมในสถาบันต่าง ๆ ก็จะแตกต่างกันไป มีการสอนให้เรียนรู้โดยตรง มีการควบคุมพฤติกรรมด้วยการทำโทษ การชี้ให้เห็นถึงความแตกต่าง หรือการเป็นตัวแบบเพื่อให้ประพฤติปฏิบัติตาม
ปัจจัยทางจิตวิทยา
นักจิตวิทยายอมรับกันว่า กระบวนการทำงานของจิต (Mental Process) นั้น อาศัย
หลักการหลาย ๆ อย่าง เช่น การเรียนรู้ (Learning) การรับรู้ (Perception) รวมทั้งความรู้สึก (Affection) การจูงใจ (Motivation) ฯลฯ ในการวิเคราะห์ธรรมชาติของมนุษย์ในเชิงจิตวิทยา ต้องมองให้ลึกลงไปถึงสิ่งที่เป็นต้นเหตุกระตุ้นกระบวนการทำงานของจิต แนวคิดทางจิตวิทยาที่กล่าวถึง
แรงผลักดันพฤติกรรมที่น่าสนใจมีอยู่หลายแนวคิด คือ
1.สัญชาตญาณมนุษย์ (Instinct)
คำว่า “สัญชาตญาณ” เป็นคำที่ใช้กันแพร่หลายในวิชาจิตวิทยา แม้แต่ในชีวิต
ประจำวันก็นำเอาคำว่า สัญชาตญาณมาพูดกันอยู่เสมอ ๆ สัญชาตญาณ หมายถึง พฤติกรรมของมนุษย์ที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ซึ่งมีลักษณะเหมือน ๆ กันในมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม เกิดขึ้นเองเป็นเอง โดย
ไม่มีการฝึกฝนหรือเรียนรู้
วิลเลียม เจมส์ (William James) นักจิตวิทยายุคบุกเบิกคนสำคัญของสหรัฐอเมริกา
กล่าวว่ามนุษย์มีสัญชาตญาณต่าง ๆ กว่า 6,000 ชนิด พฤติกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ เช่น การดูด การกิน การยิ้ม ความโกรธ การเดิน การเข้าสังคม ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เกิดจากสัญชาตญาณทั้งสิ้น ดังนั้น
ในระยะนั้นจึงนิยมนำเอา คำว่า สัญชาตญาณไปอธิบายพฤติกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ เช่น การร้องไห้
ครั้งแรกของเด็กเมื่อคลอดออกจากครรภ์มารดาก็เป็นเพราะสัญชาตญาณ การอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม
เป็นสังคม เป็นหมู่คณะก็เป็นเพราะสัญชาตญาณของมนุษย์
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันนี้ความเชื่อตามทฤษฎีสัญชาตญาณได้เสื่อมความนิยมลงไป เพราะมีข้อเท็จจริงหลายอย่าง จากการศึกษาพบว่า พฤติกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์เป็นเรื่องของ
การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นภายหลัง เป็นเรื่องอิทธิพลของสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งตรงกันข้ามกับข้ออ้างตามทฤษฎีสัญชาตญาณของวิลเลียม เจมส์
2.แรงผลักดันพฤติกรรมของมนุษย์
มีการถกเถียงกันมานานเกี่ยวกับเรื่องแรงผลักดันพฤติกรรมของมนุษย์ว่าเกิดจากอะไร เมื่อประมาณ 2,000 ปีมาแล้ว มีแนวความคิดหนึ่งของนักปรัชญาที่เสนอว่า แรงผลักดันพฤติกรรมของมนุษย์เกิดจากสาเหตุสองประการ คือ ความต้องการที่จะเลี่ยงความทุกข์ และความต้องการแสวงหาความสุข ความเชื่อตามแนวความคิดนี้เรียกว่า “ลัทธิสุขนิยม” (Hedonism) ซึ่งลัทธินี้เป็นการเสนอความคิดในเชิงปรัชญาเท่านั้น
วิชาจิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่แยกออกมาจากปรัชญาในการศึกษาแรงผลักดันพฤติกรรมของมนุษย์ นักจิตวิทยาจึงมีแนวความคิดพื้นฐานคล้ายคลึงลัทธินิยมสุข โดยถือว่า แรงผลักดันพฤติกรรมมนุษย์เกิดจากความต้องการของมนุษย์ และได้มีการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจว่ามนุษย์
มีความต้องการอะไรบ้าง ในขั้นต้นก็แบ่งความต้องการออกเป็น 2 ประเภท คือ ความต้องการ
ทางร่างกาย และความต้องการทางจิตใจ ความต้องการทางร่างกายทำให้เกิดแรงกระตุ้นทางร่างกาย ได้แก่ ความหิว ความกระหาย ความต้องการขับถ่าย ความต้องการทางเพศ ส่วนความต้องการ
ทางจิตใจที่กระตุ้นผลักดันพฤติกรรมมีมากมาย เช่น ความรัก ความกลัว ความสำเร็จ ความก้าวร้าว ความอยากรู้อยากเห็น ความมีเกียรติ ฯลฯ
มีแนวคิดที่น่าสนใจซึ่งพูดถึงแรงผลักดันพฤติกรรมของมนุษย์ 2 แนวคิด คือ
2.1แนวคิดของซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ปรมาจารย์ทางจิตวิทยาท่านหนึ่งได้เสนอแนวความคิดว่า พฤติกรรมของมนุษย์เกิดจากแรงผลักดันทางจิต ซึ่งอยู่ในรูปของพลังงานที่คอยกระตุ้นหรือผลักดันให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ ซึ่งเรียกว่า สัญชาตญาณการดำรงชีวิต ส่วนอีกขั้วหนึ่งเป็นพลังที่ผลักดันเพื่อให้ชีวิตดับไป ซึ่งเป็นสัญชาตญาณความตาย และพลังต่าง ๆ จะถูกกระตุ้นจากโครงสร้างของจิต 3 โครงสร้าง คือ อิด (Id) อีโก้ (Ego) และซูเปอร์อีโก้ (Super ego)
พลังกระตุ้นพฤติกรรมตามโครงสร้างทั้ง 3 นั้น เกิดจากธรรมชาติมูลฐาน 2 ประการ คือ แรงกระต้นทางกามารมณ์ (Sex drive) และความก้าวร้าว (Aggressive) แรงผลักดันดังกล่าวจะมีพลังดุจเดียวกับ
พลังการไหลของน้ำ หากปิดกั้นทางหนึ่งก็จะไหลไปสู่อีกทางหนึ่ง เช่น แรงผลักดันทางเพศ ถ้าไม่ได้รับการตอบสนอง เพราะมีการควบคุมไว้ ก็อาจแสดงออกเป็นพฤติกรรมเบี่ยงเบน เช่น การฝัน
การจินตนาการ ซึ่งถือเป็นกลไกการปรับตัวเพื่อลดความตึงเครียด
ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าธรรมชาติของมนุษย์ตามทัศนะของฟรอยด์นั้น มนุษย์
เห็นแก่ตัว มนุษย์ก้าวร้าว พฤติกรรมของมนุษย์อยู่ภายใต้อำนาจแรงผลักดันที่มนุษย์ไม่รู้ตัวและ
ไม่มีเหตุผล
2.2แนวคิดของนักจิตวิทยาแนวมนุษย์นิยม (Humanist) แนวคิดเกี่ยวกับพฤติกรรมของกลุ่มมนุษย์นิยมเชื่อว่า มนุษย์ไม่ใช่ทาสของกามารมณ์ ความหิว ความกระหาย แต่มนุษย์เกิดมาพร้อมกับศักยภาพของความเป็นมนุษย์มีความอยากรู้ มีความคิดสร้างสรรค์ และต้องการที่จะพัฒนาตนเอง มาสโลว์ (Abraham Maslow) ได้ชื่อว่าเป็นผู้พัฒนาแนวความคิดนี้ มาสโลว์เสนอแนวคิดว่ามนุษย์เกิดมาพร้อมกับความต้องการ 5 ประการ ซึ่งจะค่อย ๆ พัฒนาขึ้นจากความต้องการขั้นพื้นฐานไปสู่ความต้องการในระดับสูงขึ้นไป ตามสภาพของการได้รับการตอบสนอง ความต้องการดังกล่าวจัดเรียงลำดับ ดังนี้
1)ความต้องการทางสรีระ (Physiological Needs) ซึ่งเป็นความต้องการพื้นฐาน
ของมนุษย์ได้แก่ ความต้องการตอบสนองความหิว ความกระหาย การขับถ่าย ฯลฯ
2)ความต้องการสวัสดิภาพ (Safety Needs) ได้แก่ ความต้องการความปลอดภัย เป็นความต้องการที่พัฒนาขึ้นมาเมื่อความต้องการทางสรีระได้รับการตอบสนองแล้ว
3)ความต้องการความรัก (Loving Needs or Belonging Needs) เป็นความต้องการยอมรับเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม บางครั้งความต้องการนี้เรียกว่า ความต้องการทางสังคม (Social Needs)
4)ความต้องการเกียรติยศชื่อเสียง (Esteem Needs) ต้องการความภูมิใจในตัวเองด้วยการได้รับการยกย่องชมเชย มีเกียรติยศชื่อเสียง
5)ความต้องการตระหนักถึงความเป็นจริงแห่งตน (Self - Actualization Needs) เป็นความต้องการที่อยากจะให้ความปรารถนาสูงสุดในชีวิตของตนเองสมหวัง เพื่อความสุขสมบูรณ์แห่งชีวิต ซึ่งความต้องการระดับนี้ถือเป็นความต้องการสูงสุดของมนุษย์เรา แต่ความสำเร็จนี้จะเกิดขึ้นหรือได้รับการตอบสนองย่อมขึ้นอยู่กับศักยภาพหรือความสามารถของแต่ละบุคคล
เมื่อพิจารณาแนวคิดตามทฤษฎีของมาสโลว์แล้ว จะเห็นได้ว่าความต้องการคือพลังผลักดันให้มนุษย์ต่อสู้ดิ้นรนพัฒนาตนเอง มนุษย์จะพยายามทำทุกอย่างเพื่อบำบัดความต้องการตามลำดับขั้น ซึ่งแต่ละคนจะมีระดับความต้องการมากน้อยไม่เท่ากัน จึงมีผลทำให้ลักษณะการแสดงพฤติกรรมแตกต่างกันไป
2.3แรงผลักดันพฤติกรรมตามแนวพุทธศาสตร์ ตามแนวทางพุทธศาสนานั้น
กล่าวว่า แรงผลักดันพฤติกรรมของมนุษย์ คือ “ความอยาก” ที่พระพุทธองค์เรียกว่า “ตัณหา” ซึ่งมีอยู่ 3 จำพวก คือ
1)กามตัณหา คือความอยากในสิ่งที่น่าใคร่ น่าปรารถนาเกี่ยวกับ รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส
2)ภวตัณหา คือความอยากเป็น อยากมี เช่น อยากเป็นเศรษฐี อยากมีเงินล้าน อยากเป็นดาราภาพยนตร์ อยากเป็นคนที่มีชื่อเสียง
3)วิภวตัณหา คือความไม่อยากเป็น ไม่อยากมี ไม่อยากเป็นอยากโน้น ไม่อยากเป็นอย่างนี้ อยากหลีกหนีให้พ้นจากสิ่งที่ตนเองไม่ต้องการ ไม่พึงปรารถนา
ตัณหาทั้ง 3 ประเภทนี้มีอยู่ในตัวบุคคลที่เป็นปุถุชนธรรมดาทุกผู้ทุกนาม จึงทำให้เกิดอุปทานคือการยึดมั่นถือมั่น แล้วผลักดันให้แสดงพฤติกรรมหรือการกระทำต่าง ๆ เช่น อยากเป็นเศรษฐี ทำให้ยึดมั่นในความคิดเกี่ยวกับความสุขสบายของเศรษฐี จึงมีพฤติกรรมขยันขันแข็งในการทำมาหากิน หรือโกงกินคอรัปชั่นเพื่อจะได้เป็นเศรษฐี ตัณหาในทางพุทธศาสนานี้เป็นความต้องการทางจิต และความต้องการทางจิตนี้สามารถผลักดันพฤติกรรมมนุษย์ แนวคิดนี้จึงสอดคล้องกับแนวคิดทางจิตวิทยา แต่จะมีความแตกต่างกันตรงที่ แนวทางพระพุทธศาสนานั้นเชื่อว่ามนุษย์สามารถหลุดพ้นจากแรงผลักดันของตัณหาทั้งหลายได้ ด้วยการฝึกอบรมจิตใจให้ประพฤติดีงามอยู่ในศีล การฝึกอบรมจิตจะทำให้จิตแจ่มใสปัญญาแก่กล้า หลุดพ้นจากอวิชา ตัณหาทั้งหลายก็จะหมดไปเอง
จากปัจจัยพื้นฐานทางจิตวิทยาที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสัญชาตญาณก็ดี และเรื่องแรงผลักดันพฤติกรรมตามแนวคิดต่าง ๆ ก็ดี ต่างก็จะพยายามอธิบายเพื่อชี้ชัดว่า พฤติกรรมของมนุษย์นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร มีอะไรเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของพฤติกรรมบ้าง
ปัจจัยทางจริยธรรมและการเรียนรู้
มอริส บิกกี (Morris Bigge 1976) ได้กล่าวถึงธรรมชาติของมนุษย์โดยคำนึงถึงในแง่ของจริยธรรม (Moral) และการกระทำ (Action) ควบคู่กัน ซึ่งธรรมชาติทางจริยธรรมและการกระทำของมนุษย์จะมีความสัมพันธ์กันและมีความเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ Bigge ได้จำแนกธรรมชาติ
ทางจริยธรรมและการกระทำไว้ ดังนี้ (Bigge. 1976 : 17-18)
ธรรมชาติพื้นฐานทางจริยธรรม ธรรมชาติพื้นฐานทางการกระทำ
(Basic Moral Nature) (Basic Action Nature)
Bad (เลว) Active (เป็นผู้กระทำ)
Good (ดี) Passive (เป็นผู้รับการกระทำ)
พื้นฐานทางจริยธรรมแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ
1. มนุษย์เกิดมาพร้อมกับความไม่ดี (innately bad)
2. มนุษย์เกิดมาพร้อมกับความดี (innately good)
3. มนุษย์เกิดมามีลักษณะกลาง ๆ ไม่ดีไม่เลว (innately neutral neither good nor bad)

พื้นฐานทางการกระทำของมนุษย์ แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ
1. Active
2. Passive
3. Interactive

1. ลักษณะ Active นักจิตวิทยามีความเห็นว่า การกระทำต่าง ๆ ของมนุษย์ธรรมชาติภายในอินทรีย์เป็นตัวกระตุ้น ถ้าในแง่ของการเรียนรู้ เด็กจะต้องมีความต้องการที่จะเรียนรู้ สำรวจ
สิ่งต่าง ๆ เอง โดยแรงกระตุ้นภายในจะผลักดันอินทรีย์ให้แสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ออกมา
2. ลักษณะ Passive อธิบายว่ามนุษย์เป็นผลผลิตของสิ่งแวดล้อมการกระทำต่าง ๆ ของมนุษย์ถูกกำหนดโดยเงื่อนไขของสิ่งแวดล้อม พฤติกรรมทั้งหลายจึงเกิดจากอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมมิใช่จากแรงผลักดันภายในแต่อย่างใด
3. ลักษณะ Interactive ลักษณะนี้อธิบายธรรมชาติของพฤติกรรมมนุษย์ว่า
เป็นปฏิกิริยาโต้ตอบระหว่างความต้องการภายในตัวบุคคลและสภาพแวดล้อม การแสดงพฤติกรรมของมนุษย์ได้รับอิทธิพลจากทั้งความต้องการภายในตัวบุคคลและสภาพแวดล้อมประกอบกัน
จากธรรมชาติพื้นฐานทางจริยธรรมและการกระทำ เมื่อนำมาพิจารณาร่วมกันในแง่
ของการเรียนรู้ จะได้ลักษณะพฤติกรรมการเรียนรู้ 5 ลักษณะคือ
ลักษณะที่1 Bad - active โดยธรรมชาติเด็กเกิดมาพร้อมกับความไม่ดี ถ้าปล่อยไว้
ตามลำพังความไม่ดีก็จะปรากฎออกมา จึงจำเป็นต้องจัดการศึกษาอบรมให้เด็กได้เรียนรู้ เพื่อช่วยให้เด็กเป็นคนดี อาจใช้การลงโทษเฆี่ยนตีประกอบด้วย เพื่อควบคุมความไม่ดีเอาไว้
ลักษณะที่ 2 Good - active โดยธรรมชาติเด็กเกิดมาพร้อมกับความดีทุกสิ่งทุกอย่าง
ที่เกี่ยวข้องกับเด็กจะดีหมด จึงไม่จำเป็นต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวจัดการศึกษาอบรมแต่อย่างไรปล่อยให้เด็กมีอิสระภาพตามธรรมชาติของเด็ก
ลักษณะที่ 3 Neutral - active โดยธรรมชาติของเด็กแล้วไม่มีความดีและความเลว แต่เด็กพร้อมที่จะกระทำสิ่งต่าง ๆ ตามความต้องการ หน้าที่ของครูจึงเป็นเพียงคอยอบรมให้เด็กได้เรียนรู้ให้ดีที่สุด
ลักษณะที่ 4 Neutral - passive กลุ่มนี้มีความเห็นว่าเด็กเกิดมาพร้อมกับความกลาง ๆ ไม่ดีไม่เลว แต่พร้อมที่จะเรียนรู้รับการฝึกอบรมสั่งสอนถ้าจัดประสบการณ์ต่าง ๆ ให้ ถือว่า
สิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของบุคคล การจัดการเรียนการสอนจึงเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของครูโดยตรงที่จะต้องช่วยเหลือแนะนำ
ลักษณะที่ 5 Neutral - interactive กลุ่มนี้มีความเห็นว่า ธรรมชาติของเด็กไม่มีทั้งความดีและความเลว แต่การกระทำต่าง ๆ ได้รับอิทธิพลมาจากทั้งความต้องการของอินทรีย์เองและจากสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนครูต้องให้โอกาสเด็กได้ศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง โดยครูคอยแนะนำช่วยเหลือเมื่อมีปัญหา และคอยจัดประสบการณ์ที่เหมาะสมให้เด็ก
บทสรุป
การศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์จำเป็นต้องทำความเข้าใจกับปัจจัยพื้นฐานบางประการ
ที่มีส่วนในการกำหนดพฤติกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ประกอบด้วย ซึ่งได้แก่ ปัจจัยพื้นฐานทางชีววิทยา สภาพองค์ประกอบทางชีววิทยาที่เป็นพื้นฐานของพฤติกรรมประกอบด้วยโครงสร้าง 3 โครงสร้างคือ ส่วนที่หนึ่งเป็นกลไกซึ่งทำหน้าที่รับสัมผัสได้แก่ ประสาทสัมผัสทั้งหมด ส่วนที่สองกลไก
ที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อ กลไกส่วนนี้จะทำหน้าที่ส่งต่อกระแสสัมผัสจากประสาทสัมผัสเพื่อนำกระแสสัมผัสไปยังสมองซึ่งเป็นประสาทสัมผัสส่วนกลางเพื่อวินิจฉัยสั่งการ กลไกส่วนที่สองนี้มี 3 ระบบ คือ ระบบประสาทส่วนกลางคือสมองและไขสันหลัง ระบบประสาทส่วนนอกได้แก่ ใยประสาท เซลล์ประสาท และระบบประสาทอัตโนมัติ กลไกส่วนที่สามคือ กลไกที่ทำหน้าที่ตอบโต้หรือแสดงพฤติกรรมตอบสนองต่อสิ่งเร้า เป็นกลไกส่วนที่ปฏิบัติตามคำสั่งของกลไกเชื่อมต่อ ซึ่งมี 2 ระบบคือ ระบบกล้ามเนื้อ ซึ่งประกอบด้วยกล้ามเนื้อลาย กล้ามเนื้อเรียบและกล้ามเนื้อหัวใจ ระบบที่สองคือ ระบบต่อมไม่มีท่อ ซึ่งเป็นระบบที่สร้างฮอร์โมนเพื่อควบคุมสภาวะความสมดุลของร่างกาย
ปัจจัยทางสังคมวิทยาเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีส่วนกำหนดควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ เนื่องจากมนุษย์เป็นสัตว์สังคมต้องอยู่ร่วมกับคนอื่นและติดต่อสัมพันธ์กับคนอื่นในสังคมตลอดเวลาตั้งแต่ในครอบครัวแล้วขยายออกสู่สังคม มีแนวคิดที่พูดถึงพฤติกรรมมนุษย์กับสังคมอยู่หลาย
แนวคิดทฤษฎีมนุษย์กับสังคมของ โธมัส ฮอบส์ ที่อธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ว่า พฤติกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของตนเองทั้งสิ้น ส่วนทฤษฎีมุ่งสัมพันธ์อธิบายว่า ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในสังคมเป็นธรรมชาติทางสังคมอย่างหนึ่งของมนุษย์ นอกจากนี้แล้วโครงสร้าง
ทางสังคมอื่น ๆ เช่น วัฒนธรรมประเพณี กระบวนสังคมประกิตและปทัสถานทางสังคมล้วน
แล้วแต่เป็นพื้นฐานทางสังคมที่มีอิทธิพลเหนือพฤติกรรมมนุษย์
ปัจจัยทางจิตวิทยากับพฤติกรรมมนุษย์จะให้ความสนใจเรื่องแรงผลักดันพฤติกรรมซึ่งมีแนวคิดน่าสนใจ 2 แนวคิด คือ แนวคิดแรกเชื่อว่าพฤติกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์เป็นเรื่องของสัญชาตญาณซึ่งเป็นแนวคิดของ วิลเลียม เจมส์ ส่วนอีกแนวคิดหนึ่งเชื่อว่า ความต้องการของร่างกายเป็นแรงกระตุ้นที่ผลักดันให้มนุษย์แสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ส่วนตามแนวพุทธศาสตร์เชื่อว่ากิเลศและตัณหาคือสิ่งกระตุ้นพฤติกรรมมนุษย์
ธรรมชาติทางจริยธรรมและการเรียนรู้ ได้พยายามอธิบายพื้นฐานของมนุษย์ในแง่จริยธรรมเป็น 3 ลักษณะ คือ ลักษณะที่หนึ่ง มนุษย์เกิดมาพร้อมกับความดีติดตัวมาตั้งแต่เกิด ลักษณะที่สอง มนุษย์เกิดมาพร้อมกับความเลวดังนั้นจึงต้องสั่งสอนอบรม ลักษณะที่สามมนุษย์
เกิดมามีลักษณะกลาง ๆ ไม่ดีและไม่เลว ส่วนในเรื่องของการกระทำทั้งหลายก็มีความเชื่อพื้นฐาน
3 ลักษณะเช่นเดียวกันคือ ลักษณะที่หนึ่ง เชื่อว่าพฤติกรรมทั้งหลายเกิดจากแรงกระตุ้นผลักดัน
ของอินทรีย์เอง ลักษณะที่สอง เชื่อว่าพฤติกรรมทั้งมวลเป็นผลมาจากอิทธิพลต่าง ๆ ของสิ่งแวดล้อม ลักษณะที่สาม มองว่าพฤติกรรมเป็นผลร่วมของการตอบโต้ระหว่างอินทรีย์และสิ่งแวดล้อม