07 เมษายน 2553
























การพัฒนาหลักสูตรวิชาศึกษาทั่วไป รายวิชา พฤติกรรมมนุษย์กับการพัฒนาตน ตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏตะวันตก






*อ.ปรเมศร์ กลิ่นหอม
กลุ่มจิตวิทยาและการแนะแนว คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี
วันที่ 5 - 6 มกราคม 2553 *ผู้เขียนได้เข้าร่วมประชุมวิชาการ จัดทำหลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไปตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มภูมิภาคตะวันตก ณ สวนสามพราน จังหวัดนครปฐมระหว่างผู้ทรงคุณวุฒิ และคณาจารย์กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏตะวันตก ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ซึ่งมีคณาจารย์จากทุกภาควิชาที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนรายวิชาศึกษาทั่วไป ได้ระดมสมองเพื่อปรับปรุงหลักสูตรรายวิชาศึกษาทั่วไป อาทิเช่น วิชาภาษาอังกฤษ วิชาภาษาจีน วิชาวิถีโลก วิชาการสร้างเสริมสุขภาวะ วิชาการคิดและการตัดสินใจ วิชาจริยธรรมกับทักษะชีวิต วิชาสุนทรียสาสตร์ และรายวิชาที่ผู้เขียนรับผิดชอบ คือ วิชาพฤติกรรมมนุษย์กับการพัฒนาตน จากการประชุมระดมความคิดได้นำเกณฑ์หลักสูตรและเนื้อหารายวิชาที่อาจารย์แต่ละท่านเป็นผู้สอน มาร่วมอภิปรายแลกเปลี่ยนความรู้ สรุปว่ามีการปรับปรุงคำอธิบายรายวิชาเพิ่มเติมเป็น
พฤติกรรมมนุษย์กับการพัฒนาตน 3(3-0-6)
Human Behavior and Self Development
“ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์ ปัจจัยพื้นฐานของพฤติกรรมมนุษย์ด้านชีววิทยาจิตวิทยา สังคมวิทยา และจริยธรรม ปรัชญาในการศึกษาตน การพัฒนาตนและบุคลิกภาพ มนุษยสัมพันธ์และการทำงานเป็นทีม การจัดการภาวะความขัดแย้ง และการเสริมสร้างสุขภาวะ”
ผู้เขียนและผู้ร่วมประชุมได้จัดโครงสร้างรายวิชาตามหลัก กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (TQF) ที่ต้องการพัฒนาผลการเรียนรู้ในแต่ละด้าน ดังต่อไปนี้
1. คุณธรรม จริยธรรม โดยมีกลยุทธ์ จัดกิจกรรมการเรียนการสอนในทุกรายวิชาทางมนุษยศาสตร์ที่ผู้เรียนมีส่วนร่วม เน้นการเรียนรู้จากสถานการณ์จริง บทบาทสมมติโดยผู้เรียนประเมินตนเอง ประเมินโดยอาจารย์ ตัวอย่างเช่น การสังเกต ใช้แบบสอบถาม สนทนากลุ่ม เป็นต้น
2. ความรู้ เน้นการสอนโดยให้ผู้เรียนมีการเรียนรู้ด้วยตนเอง และการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม การใช้ปัญหาเป็นพื้นฐาน ทั้งการเรียนรู้ในชั้นเรียนและชุมชน โดยใช้กลวิธีสอนที่หลากหลาย ทั้งการบรรยายร่วมกับการอภิปราย การค้นคว้า การวิเคราะห์ เพื่อการเรียนรู้ร่วมกันของกลุ่ม โดยการประเมินผลด้านความรู้ เช่น การสอบวัดความรู้โดยใช้ข้อสอบ การวิเคราะห์กรณีศึกษา เป็นต้น
3. ทักษะทางปัญญา มีการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะการคิดและการแก้ไขปัญหา ทั้งระดับบุคคลและกลุ่มในสถานการณ์ทั่วไปและสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชามนุษยศาสตร์ โดยใช้วิธีการสอนที่หลากหลาย เช่น การอภิปรายกลุ่ม การทำกรณีศึกษา การจัดทำโครงการ การถอดบทเรียน เป็นต้น โดยมีกลยุทธ์การประเมินผลการเรียนรู้ด้านทักษะทางปัญญา ด้วยการประเมินหลายวิธี เป็นการวัดและการประเมินทักษะการคิด และการแก้ไขปัญหา เช่น การสอบวัดความสามารถในการคิดและแก้ไขปัญหา การศึกษาอิสระ และประเมินผลโครงการและนวัตกรรม เป็นต้น
4. ทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ กลยุทธ์การสอนที่เน้นการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียน ผู้เรียนกับผู้สอน ผู้เรียนกับชุมชน โดยจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่มีการทำงานเป็นทีมเพื่อส่งเสริมการแสดงบทบาทของการเป็นผู้นำและผู้ตาม จัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ จากประสบการณ์จริง ประเมินผลโดยการประเมินความพึงพอใจระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียน ผู้เรียนกับผู้สอน การประเมินชิ้นงานจากกิจกรรมกลุ่ม เป็นต้น
5. ทักษะในการวิเคราะห์และการสื่อสาร กลยุทธ์การสอนที่ใช้ คือ การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนได้ฝึกกระบวนการคิดวิเคราะห์ เน้นให้ผู้เรียนได้ทักษะการสื่อสารระหว่างบุคคลทั้งการพูด การฟัง และการเขียนในกลุ่มผู้เรียน ระหว่างผู้เรียนและผู้สอน และบุคคลที่เกี่ยวข้องในสถานการณ์ที่หลากหลาย โดยประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้จากแบบสังเกต แบบประเมินทักษะการคิด การพูด การเขียนบันทึก การค้นคว้า การทำรายงาน เป็นต้น
5 - 6 มกราคม 2553 ประชุมวิชาการ จัดทำหลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไปตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มภูมิภาคตะวันตก อ.สามพราน จ.นครปฐม

15-17 มีนาคม 2553 ประชุมวิชาการวิพากษ์และจัดทำมคอ.3 รายวิชาศึกษาทั่วไป ที่ จ.เพชรบุรี